เชียงใหม่ - อเนจอนาถใจรับวันช้างไทยกันทั่ว..พบช้างถูกเลี้ยงแบบทิ้งขว้างไม่ไยดี จนผอมโซเหลือแต่หนังหุ้มกะโหลก-ทรุดลุกไม่ขึ้นต้องใช้เครนพยุงคาปางช้างดังเชียงใหม่ จนคนเลี้ยงช้างทนไม่ไหวแชร์ภาพประจานปางโลกสวยว่อนโซเชียลฯ
วันนี้ (12 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนถึงวันช้างไทย 13 มีนาฯ นี้ แวดวงคนเลี้ยงช้างไทยได้มีการส่งต่อภาพช้างในปางช้างชื่อดังแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ที่อยู่ในสภาพผอมโซจนเห็นหัวกะโหลก-โครงกระดูกชัดเจน จนเป็นที่อนาถใจกันทั่วเพราะสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการดูแลช้าง
เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเป็นช้างจากปางช้างแห่งหนึ่งใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่ประชาสัมพันธ์ในธุรกิจของตัวเองว่าเป็นปางช้างประเภทแซงก์ชัวรี เป็นแหล่งพักพิงช้าง ไม่มีการใช้โซ่ ใช้ตะขอในการเลี้ยงช้าง หรือที่รู้จักกันดีในหมู่คนเลี้ยงช้างเรียกว่าปางช้างโลกสวย No riding No hook No chain.
จากการสอบถามชาวบ้านใกล้เคียงให้ความเห็นว่า ปางช้างแห่งนี้เป็นปางช้างที่ให้นักท่องเที่ยวมาเลี้ยงช้างอย่างใกล้ชิดในแนวโลกสวย แต่ตอนหลังมากิจการไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักจึงย้ายช้างไปที่ใหม่เกือบหมด คงเหลือช้างไว้ที่นี่แค่สามเชือกเผื่อมีลูกค้าเดิมๆ ต้องการกลับมาเที่ยว แต่ก็ไม่ค่อยเอาใจใส่เท่าที่ควร กลางคืนจะได้ยินเสียงช้างร้องโหยหวนน่ากลัวมาก คงเป็นเพราะช้างหิวไม่ได้กินอาหารเพียงพอเพราะมีคนเฝ้าอยู่ไม่กี่คน สอบถามดูบอกว่าเอาหญ้าให้ช้างกินวันละครั้ง หรือสองวันครั้ง ซึ่งตนคิดว่าไม่พอแน่นอน เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่มีความต้องการอาหารเป็นปริมาณมากต่อวัน
ชาวบ้านยังได้เปิดเผยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้เห็นมีรถเครนเข้าไปก็นึกว่าช้างล้มหรือตายไปแล้ว แต่มารู้ทีหลังว่ายังไม่ตาย แต่อาการหนักถึงกับต้องใช้รถเครนยกพยุงไว้เพราะช้างไม่สามารถยืนด้วยตัวเองได้ และได้ข่าวว่ามีหมอช้างจากข้างนอกเข้ามาช่วยให้น้ำเกลือกับยาบำรุงกำลัง และหมอแนะนำให้เพิ่มอาหารช้างให้เพียงพอ เพราะที่ช้างทรุดลงด้วยสาเหตุอดอยากไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแต่อย่างใดเลย ซึ่งในตอนนี้ก็ได้ยินว่าช้างดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคงผอมมากๆ
นางสาวลลิต์ภา นิลอุบล นักวิชาการอิสระ และนักแปลเพื่อช้างไทย ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการช้างมาพอสมควร เดินทางไปทุกภาคของประเทศไทยเพื่อศึกษาวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างในแต่ละท้องถิ่น เห็นช้างมาไม่น้อยทั้งในปางช้างทั่วไป และปางช้างแบบโลกสวยเช่นนี้ รู้สึกสลดใจ เศร้าใจที่เห็นภาพช้างอดโซ ไม่ได้รับการดูแลที่ดีในปางที่อ้างว่ารักช้าง เลี้ยงช้างอย่างปรานี แต่กลับกลายเป็นว่าช้างอดอยาก ได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จนตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสาร-เสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยง่าย
นางสาวลลิต์ภายังได้เปิดเผยต่อไปว่า การที่ปางช้างโลกสวยปล่อยปละละเลยไม่ดูแลเอาใจใส่ในช้างของตัวเองแบบนี้จะทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเมืองไทยเสียหาย จากเดิมที่มีกลุ่มคนพยายามโจมตีการเลี้ยงช้างของคนไทยว่าทารุณ นำช้างมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบไม่ปรานีต่อช้าง ทำให้เกิดภาพลบต่อวงการช้างไทยมานาน
แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบันปางช้างใหญ่ๆ ที่จัดการการท่องเที่ยวแบบให้บริการนั่งช้าง หรือมีการแสดงความสามารถพิเศษของช้าง เขาดูแลช้างได้เป็นอย่างดี ช้างมีความสุข มีสุขภาพที่ดี ต่างกับปางช้างแบบโลกสวยหลายๆ ปางที่โฆษณาว่ารักช้างอนุรักษ์ช้างเลี้ยงแบบปรานี ไม่มีการใช้โซ่ ไม่ใช้ตะขอ แต่กลับทารุณช้าง ให้น้ำให้อาหารไม่เพียงพอ เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่สุดที่หากินกับช้างแต่ไม่ดูแลเอาใจใส่ให้ดี
ในส่วนตัวนั้นตนมองว่ากระแสธุรกิจการเลี้ยงช้างและประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตนเองว่าเป็นปางช้างแนวโลกสวยกำลังใกล้จะถึงจุดจบ เพราะยุคนี้เป็นยุคของการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียรวดเร็วมากๆ ไม่สามารถที่จะปิดกั้นข่าวสารกันได้อีกต่อไป ข้อมูลถูกส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว
“อะไรที่ทำไม่ดีไว้จะถูกเปิดเผยเปิดโปงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของช้างในปางโลกสวยที่ฆ่าควาญและฆ่าเจ้าของตายอย่างที่เป็นข่าวดังที่ผ่านมาไม่นาน นี่คือเป็นการเริ่มต้นของจุดจบแห่งการทำธุรกิจเลี้ยงช้างแบบโลกสวยอย่างแท้จริง”
นางวาสนา ชัยเลิศ ทองสุข กรรมการผู้จัดการปางช้างแม่แตง ปางช้างขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า รู้สึกไม่ดีมากๆ ที่เห็นภาพช้างผอมขนาดนั้น ทีแรกก็นึกว่าช้างเจ็บป่วยไม่สบาย คิดว่าจะส่งทีมงานสัตวแพทย์ของปางช้างแม่แตงไปช่วยเหลือ แต่มาทราบทีหลังว่าช้างไม่ได้เจ็บป่วยอะไรเลย แต่ได้กินอาหารไม่เพียงพอแค่นั้น ก็รู้สึกเศร้าใจมาก
เพราะปางช้างของเราให้ความสำคัญต่อสุขภาพของช้างอย่างมากๆ เราทำธุรกิจกับช้าง ช้างเลี้ยงเรา เลี้ยงผู้คนมากมาย เราก็ต้องตอบแทนบุญคุณในการเลี้ยงเขาให้ดี มีอาหารและน้ำท่าที่สมบูรณ์ พักอาศัยอยู่ในที่สะอาดสะอ้าน มีควาญดูแลอย่างดี มีสัตวแพทย์คอยดูแลสุขภาพให้ด้วย มีการจัดการที่ดีที่สุด เพื่อให้ช้างมีความสุข และเรามีสวัสดิการที่ดีให้แก่ควาญช้างด้วย เพราะถ้าควาญช้างมีความสุข ได้รับผลตอบแทนที่ดี เขาก็จะดูแลช้างได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
นางวาสนายังได้กล่าวต่อไปว่า อยากให้เข้าใจว่าช้างในประเทศไทยมีอยู่สองประเภท คือช้างบ้านหรือช้างเลี้ยง และช้างป่าที่อาศัยอยู่ในป่า ช้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นช้างบ้านทั้งหมด อาศัยอยู่กับคนมาเป็นหลายร้อยปีแล้ว จากรุ่นสู่รุ่น มีความผูกพันกับมนุษย์เรามานานแล้ว คนที่มีช้างจะดูแลช้างเสมือนหนึ่งคนในครอบครัว ดูแลเอาใจใส่ช้างดีมากๆ ในสมัยก่อนช้างไทยอยู่ในอุตสาหกรรมการป่าไม้ มีการไปทำงานชักลากซุงในป่า ช้างก็คุ้นเคยกับป่าเป็นอย่างดี
“ปางช้างเรามีช้างหลายรุ่น ช้างที่แก่ๆ ต่างก็เคยผ่านงานชักลากซุงในป่ามากันทั้งนั้น เคยได้กินอาหารจากป่าแท้ๆ พวกเถาวัลย์ ต้นไผ่อ่อนๆ หรือต้นหญ้าที่เกิดตามธรรมชาติ ช้างรุ่นนั้นจะมีความสามารถหาอาหารเองจากป่าได้ แต่ช้างเด็กๆ รุ่นใหม่ไม่ทันในยุคสมัยที่เคยทำงานในป่า ก็คุ้นเคยกับการที่มีควาญหาอาหารมาให้ตลอด ถ้าปล่อยเข้าป่าไปคงหากินเองไม่เป็นแน่ๆ”
ในตอนนี้ทางปางช้างแม่แตงก็พยายามปลูกป่าปลูกพืชสมุนไพรต่างๆ เพื่อนำมาเลี้ยงช้าง ให้ช้างได้รับสารอาหารที่หลากหลายเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และนอกจากนี้ทางคลินิกช้างปางช้างแม่แตงก็ใช้สมุนไพรในการรักษาช้างเจ็บป่วยร่วมกับการแพทย์สมัยใหม่ ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ด้วย ใช้ภูมิปัญญาของควาญช้างไทยที่สืบทอดกันมายาวนานในการดูแลรักษาช้างของเรา
นางวาสนากล่าวอีกว่า เราเลี้ยงช้างทำธุรกิจกับช้าง จึงควรเอาใจใส่ช้างของเราให้ดี ไม่ให้อยู่ในสภาพผอมโซหิวโหย เพราะเขาพูดบอกอะไรเราไม่ได้ นึกถึงตอนที่เราหิวแต่ยังหาอะไรมากินไม่ได้นึกแค่นี้ก็สงสารช้างที่อดอยากแล้วว่าเขาจะทรมานเพียงใด
อนึ่ง ในวันที่ 13 มีนาคมนี้เป็นวันช้างไทย ทางปางช้างแม่แตงก็จะจัดงานวันช้างไทยด้วย โดยมีนิทรรศการเกี่ยวกับช้างไทยให้นักท่องเที่ยวได้ชม มีพิธีทางศาสนาสืบชะตาช้างกับควาญเพื่อเป็นสิริมงคล และมีการเลี้ยงขันโตกช้าง และเลี้ยงขันโตกในตอนเย็นให้ควาญช้างและแขกที่มาในงาน และในงานจะมีการเสวนาในหัวข้อ “สวัสดิภาพช้างไทยและควาญช้าง” โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กันในหมู่คนเลี้ยงช้าง เริ่มตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป