xs
xsm
sm
md
lg

ครูบาดังยันสวมมงกุฎ-สังฆาฏิทองคำยกยอราชครูตามประเพณีเพื่อนบ้านทำกันมานับพันปี (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - “ครูบาอริยชาติ” ยืนยันสวมมงกุฎ-สังฆาฏิ-สุพรรณบัตรทองคำตามประเพณีเพื่อนบ้านที่ถือปฏิบัติมานับพันปี ถือเป็นเกียรติของสงฆ์ไทยได้สมณศักดิ์ชั้น “ราชครู” ทั้งที่พรรษาน้อย ระบุเขาถวายให้ต่อบุญ แต่ญาติโยมขอให้เก็บไว้



วันนี้ (24 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่วัดแสงแก้วโพธิญาน ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ยังคงคึกคัก มีศรัทธาญาติโยม-นักท่องเที่ยวเข้ากราบสักการะพระภาวนารัตนญาณ (ครูบาอริยชาติ อริยจิตโต) เจ้าอาวาสฯ อย่างต่อเนื่อง

หลังปรากฏภาพสวมมงกุฎทองคำแท้หนัก 32 บาท แผ่นทองคำบริเวณบ่าซ้ายหรือสังฆาฏิหนัก 10 บาท สุพรรณบัตร 5 บาท รวม 47 บาท เข้ารับการประกอบพิธียกยอราชครูแห่งเมืองยอง รัฐฉาน ประเทศพม่า กระทั่งพระรัตนมุนี (ปุณณมี วิสารโท) รักษาการเจ้าคณะ จ.เชียงราย ได้มีคำสั่งให้เจ้าคณะอำเภอแม่สรวย ตั้งคณะทำงานดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีหนังสือชี้แจงโดยให้รายงานผลต่อเจ้าคณะจังหวัดภายในวันจันทร์ที่ 25 ก.พ.นี้

ครูบาอริยชาติ ที่เพิ่งออกจากการปฏิบัติธรรมเข้าอธิษฐานจิตเข้ากรรมฐานในป่านาน 3 วัน และทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ได้ออกมารับญาติโยมที่มีความเป็นห่วงเดินทางมาสอบถามเรื่องราว หรือแม้แต่พระผู้ใหญ่จากเมืองยอง หรือในประเทศไทย ที่โทรศัพท์มาสอบถามกันเป็นระยะ

ครูบาอริยชาติกล่าวว่า พิธีดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องในวันมาฆบูชาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งพระสังฆราชา และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้บริหาร และพุทธศาสนิกชนที่เมืองยองได้จัดขึ้น โดยมีพระสงฆ์-ญาติโยม จาก 8 เมืองใหญ่เข้าร่วม เช่น เมืองไฮ เมืองท่าขี้เหล็ก รวมถึงเชียงรุ่ง เขตฯ สิบสองปันนา ประเทศจีน ฯลฯ มีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน

ทางวัดพระธาตุเมืองยองได้เชิญครูบาฯ ไปรับมอบสมณศักดิ์ชั้นราชครู และจัดพิธีเป็นพิเศษ ณ วัดพระธาตุเมืองยอง และมีการจัดหอเดื่อ การสรงน้ำ ฯลฯ จากนั้นก็มอบมงกุฎ สังฆาฏิ และสุรรรณบัตรชั้นราชครูให้ ซึ่งตามประเพณีดังกล่าวก็จะมีการให้สวมมงกุฎด้วย

ส่วนทองคำทั้งหมดได้จากการร่วมกันบริจาคของพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาแรงกล้า แม้แต่พระสังฆราชาก็ร่วมบริจาคทองคำหนัก 15 บาท แต่ไม่ได้มอบให้เพื่อนำไปสวมใส่ แต่ให้นำไปต่อบุญ อันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมานับพันปีแล้ว และในอดีตฝั่งภาคเหนือของไทยก็เคยมีแต่เลือนหายไปตามกาลเวลาเท่านั้น เรื่องนี้จึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและถือเป็นเกียรติของพระภิกษุฝั่งไทยเสียอีกที่ได้รับสมณศักดิ์จากต่างประเทศ และหากว่าไม่ศรัทธาเขาก็คงจะไม่มอบให้แน่นอน

ครูบาอริยชาติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตามปกติสมณศักดิ์ชั้นราชครูจะมอบให้พระภิกษุที่มีพรรษาตั้งแต่ 40 พรรษาขึ้นไปหรือมีอายุอย่างน้อย 60 ปี แต่ครั้งนี้ทางคณะสงฆ์เมืองยองกลับให้เกียรติสูงสุดมอบให้กับอาตมา ทั้งๆ ที่มีอายุพรรษาได้ 18 พรรษา ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

เพราะตามปกติผู้จะได้รับสมณศักดิ์ชั้นต่างๆ 7 ขั้น คือ พระภิกษุที่เพิ่งบวช, ภิกษุที่บวชได้ 10 พรรษาเรียกว่าสาธุ, ภิกษุที่บวชได้ 20 พรรษาเรียกว่าสาธิ, ภิกษุที่บวชได้ 30 ปีเรียกว่าครูบา, ภิกษุบวชได้ 40 พรรษาเรียกว่าชั้นราชครู, ภิกษุที่บวชได้ 50 พรรษา ก็จะเป็นชั้นสังฆราชา และชั้นสูงสุด ซึ่งหาได้ยากคือชั้น 70 พรรษาขึ้นไป ซึ่งจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 90 ปี

สำหรับอาตมากลับได้รับสมณศักดิ์ที่เมืองยองให้เป็นขึ้นราชครู ซึ่งต่ำกว่าชั้นสังฆราชาเพียงขั้นเดียวเท่านั้น จึงแสดงว่าได้รับเกียรติอย่างมาก ดังนั้น เดิมเมื่อได้รับก็จะนำสิ่งที่ได้มาต่อยอดทำบุญเพราะไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใดอยู่แล้ว แต่บรรดาลูกศิษย์และญาติโยมให้เก็บรักษาเอาไว้เป็นเกียรติประวัติจึงได้เก็บไว้ภายในกุฏิที่วัด

ครูบาอริยชาติกล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่เมืองยอง พม่า คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อ ไทเขิน ไทยอง ฯลฯ ที่เป็นพี่น้องกันและใช้ภาษาคล้ายกันสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ รวมทั้งนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน และเขาก็มีประเพณีเช่นนี้มานับพันปี แม้แต่พระสงฆ์ฝั่งไทยก็เคยเข้ารับสมณศักดิ์แบบนี้มาแล้วหลายท่าน แต่จะได้รับถึงชั้นสูงสุดแค่ชั้นครูบาเท่านั้น ยังไม่มีผู้ได้สูงถึงระดับราชครู

ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่า และสาเหตุที่อาตมาได้รับเลือกเนื่องจากเคยไปทำบุญที่เมืองท่าขี้เหล็ก ติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และได้รับชักชวนให้ไปเมืองยอง ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนยอดฉัตรจากเงินให้เป็นทองคำพอดี ทำให้ได้ร่วมทำบุญ และได้รับเชิญให้ไปรับสมณศักดิ์ดังกล่าว โดยในวันประกอบพิธีก็มีผู้ถวายปัจจัยเป็นเงินบาทกว่า 300,000 กว่าบาทและเงินจั๊ตของพม่ากว่า 10 ล้านจั๊ต ก็ถวายทำบุญที่วัดพระธาตุเมืองยองทั้งหมดแล้ว

ขณะที่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ใน จ.เชียงราย กล่าวว่า ภาพและข้อความพิธีดังกล่าวปรากฏในโซเชียลฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา จากนั้นจึงกลายเป็นประเด็นขึ้น ซึ่งหากจะว่าไปแล้วพิธีกรรมดังกล่าวก็เป็นประเพณีปฏิบัติที่กระทำกันในฝั่งของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง คือเขตรัฐฉานมานานแล้ว ที่ผ่านมาก็มีการกระทำกันเป็นปกติ แต่เนื่องจากไม่มีพระสงฆ์จากฝั่งไทยเข้าร่วมจึงไม่เป็นประเด็น ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาบานปลาย และจะยุติโดยเร็วหลังได้รับการชี้แจงแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น