นครสวรรค์ - ต้องช่วยกันสนับสนุน..ชาวหนองโพ-ตาคลี เมืองปากน้ำโพ รวมตัวตั้งกลุ่มกันเพ็ชรบ้านละคร ฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมผลิตหุ้นละคร-หัวโขน ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ แถมดึงเยาวชนเรียนรู้ตั้งคณะรับแสดงทั้งงานบวช-งานแต่งด้วย
นางนันชุลี กันเพ็ชร อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ 2 ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.ครสวรรค์ ประธานกลุ่มการทำเครื่องประดับละครไทย และการทำหัวโขน ต.หนองโพ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตั้งกลุ่มอาชีพกันเพ็ชรบ้านละครขึ้น โดยให้เด็ก-เยาวชน และชาวบ้านในหมู่บ้านมารวมกลุ่มกัน สร้างหุ่นละคร-หัวโขนขาย และกำลังขยายตลาดไปทั้งในและต่างประเทศด้วย
“จุดเริ่มต้นมาจากแนวคิดอยากอนุรักษ์การทำเครื่องประดับให้แก่ละครไทย เพื่ออนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของครอบครัวที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้คิดทำเป็นอาชีพ แค่คิดว่าจะนำมาเผยแพร่ในชุมชน เพื่อให้ความรู้ให้แก่เด็กๆ เท่านั้น”
แต่ต่อมาหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุนให้เป็นสินค้า OTOP ของตำบลหนองโพ และเยาวชนอาศัยช่วงปิดเทอมมาเรียนรู้กันจำนวนมาก สนใจทำกิจกรรมหัวโขน และอนุรักษ์ประเพณีของบ้านหนองโพ จึงร่วมกันกับชาวบ้านตั้งกลุ่มหาวัตถุดิบในพื้นที่ เช่น กระดาษถุงปูนซีเมนต์ ต้นไม้ที่ยืนต้นตายนำมากลึงเป็นยอดชฎา ดินสอพองนำมาขัดหน้าหัวโขน จากนั้นก็นำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนาร่วมกับภูมิปัญญาเดิมของชาวบ้านสร้างหัวโขน-หุ่นละคร นอกจากนี้เด็กๆ ยังนำความรู้นำไปต่อยอดจากการทำหัวโขนขาย มาเรียนรู้แสดงโขนจนกลายเป็นอาชีพแสดงตามมา
จนกระทั่งทุกวันนี้ในหมู่บ้านมีงานบวช งานแต่ง จะต้องมาจ้างเด็กๆ ไปแสดงโขนละครรำกัน ทำให้เด็กมีรายได้จากไปทำการแสดง ขยายเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ลูกหลาน เยาวชน และบุคคลที่สนใจทั่วๆ ไป และยังส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้นาฏศิลป์ไทยด้านละครรำและการเล่นโขน บ่งบอกถึงเอกลักษณ์การแสดงของไทย
นางนันชุลีบอกต่ออีกว่า แรงงานที่มาทำจะเป็นคนในชุมชนและมีการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาให้กับเยาวชน จนเกิดความรักใคร่ สามัคคีของคนในชุมชนด้วย จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์หัวโขนกันเพ็ชรบ้านละคร ต.หนองโพ ได้รับมอบเกียรติบัตรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี พ.ศ. 2552 และยังได้รับประกาศนียบัตร หัวโขน มีคุณภาพได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์สินค้ามาตรฐานสหกรณ์ จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 อีกด้วย