xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหัวรอเปิดบันทึกจับพิรุธ “บ่อขยะบ่อทองคำ” ตั้งข้อสงสัยส่อปกปิดข้อมูล-เอื้อเอกชน-ทำผิดแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิษณุโลก - เทศบาลตำบลหัวรอเมืองสองแควยอมถอย..ออกคำสั่งปิดบ่อขยะ (บ่อทองคำ) หัวรอ ชั่วคราว 15 วัน หลังชาวบ้านรวมตัวต้านหนักข้ามปี-ยื่นฟ้องศาลปกครองซ้ำ ชี้พิรุธทั้งส่อปกปิดข้อมูล-เอื้อเอกชน-ทำผิดแบบ แถมท้องถิ่นจังหวัดฯ สั่งทำประชาคมใหม่แล้วแต่ไม่ทำ


ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างบ่อขยะ (ฝังกลบ) บ่อทองคำ ที่ดำเนินการตามใบอนุญาตโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น เลขที่ 60/2561 ลงวันที่ 27 ก.ย. 61 บนพื้นที่ 17 ไร่ เขตชุมชนหมู่ 11 ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก ที่ถูกชาวบ้านตำบลหัวรอต่อต้านมาอย่างต่อเนื่องข้ามปี และได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก ฟ้องนายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ และเทศบาลตำบลหัวรอออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนเปิดบ่อขยะแบบฝังกลบโดยมิชอบไปเมื่อ 12 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ มีหนังสือคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ลงวันที่ 15 ก.พ. ถึงผู้จัดการบริษัทไทยมีดี จำกัด แจ้งอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 พ.ร.บ.สาธารณสุข 35 ออกคำสั่งให้หยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หรือจนกว่าจะได้ปูแผ่นกันซึม และวางท่อรวบรวมน้ำชะล้างมูลฝอยในพื้นที่ให้แล้วเสร็จ หากยังดำเนินการต่อไปจะมีโทษตามมาตรา 80 คือ จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังไม่หยุดกิจการดังกล่าว

อนึ่ง หากไม่พอใจคำสั่ง หรือเห็นว่าไม่เป็นธรรม มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือ รมว.สาธารณสุขภายใน 30 วันนับจากรับทราบคำสั่งดังกล่าว

นายณัฏฐพล พงษ์วิทยานุกฤต แกนนำชาวบ้านหัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก กล่าวว่า บ่อขยะฝังกลบแห่งนี้พนักงานสาธารณสุขเทศบาลหัวรอและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ตรวจสอบพบว่าไม่ได้ปูแผ่นกันซึมและวางระบบท่อรวบรวมน้ำ มูลฝอยเต็มพื้นที่บ่อฝังกลบ โดยดำเนินการปูประมาณครึ่งบ่อเพื่อให้ใช้ในการฝังกลบช่วงแรก

ซึ่งในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาแม้ยังไม่มีการฝังกลบขยะในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปูแผ่นกันซึม-วางท่อรวบรวมน้ำเสีย แต่หากขยะสะสมมากขึ้น อาจทำให้น้ำขยะรั่วไหลไปยังพื้นที่ในส่วนที่ยังไม่ได้ปูแผ่นกันซึมได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาเห็นแล้วว่าหากปล่อยให้น้ำชะมูลฝอยรั่วไหลไปยังพื้นที่ในส่วนที่ยังไม่ได้ปูแผ่นกันซึม จะทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใต้ดินและน้ำในลำรางสาธารณะที่อยู่ใกล้ๆ กับบ่อฝังกลบขยะ พระที่อยู่ในวัดบ่อทองคำหรือประชาชนที่มาใช้น้ำลำรางสาธารณะในการอุปโภคอาจได้รับอันตรายได้ จึงถือว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนได้

ด้านนางวัชราวรรณ กัญจนา ชาวบ้านตำบลหัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของบ่อขยะ (ฝังกลบ) บ่อทองคำแห่งนี้ว่า เมื่อ 18 ส.ค. 61 ที่ผ่านมามีการทำประชาคม/ประชาพิจารณ์ โครงการบ่อขยะแบบฝังกลบหรือโรงงานคัดแยกขยะระบบ RDF แต่ไม่มีคนทราบเรื่อง-เข้าร่วมประชุมเพียง 260 คน แม้จะมีคนเห็นด้วย 230 คน ไม่เห็นด้วย 17 คน แต่มีข้อน่าสังเกตว่าคนที่เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ อีกทั้งยังมีจำนวนน้อยกว่า 50% ของจำนวนประชากรในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ยังส่อว่าอาจจะมีการปกปิดข้อเท็จจริง ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจ เพราะข้อมูลที่ให้วันดังกล่าวตามข้อมูลบันทึกรายงานการประชุมเป็นการขอความเห็นในการสร้างโรงงานกำจัดขยะระบบ RDF แต่ที่ทำอยู่ในขณะนี้เป็นบ่อฝังกลบขยะ และมีการแจ้งว่าบ่อขยะนี้จะรองรับขยะจาก 2 ชุมชน คือ ต.หัวรอ และ ต.ปากโทก ก่อนแล้วค่อยให้ที่อื่นเข้ามาทิ้งได้ แต่กลับนำขยะจากเทศบาลนครพิษณุโลก-เทศบาลตำบลหัวรอมาทิ้ง และเดิมแจ้งว่าบริษัทที่จะทำโครงการนี้ คือ บริษัทวงษ์พาณิช แต่ปัจจุบันเป็น ไทยมีดี ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะมีความชำนาญจัดการขยะ

12 กันยายน 61 ชุมชนผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรวีพีการ์เด้น ที่อยู่ห่างจากขอบบ่อขยะแห่งนี้ราว 700 เมตร มีบ้านเรือนร่วม 500 หลังคา เคยรวมตัวยื่นหนังสือขอให้เทศบาลตำบลหัวรอเข้าร่วมประชุมชี้แจงเรื่องบ่อขยะ , วันที่ 15 กันยายน 61 ยื่นหลังหนังสือผ่าน สนง.ปลัดเทศบาลตำบลหัวรอ แต่ไมมีการตอบรับกลับมา

24 กันยายน 61 บริษัทไทยมีดี จำกัด ขอจดทะเบียนเพิ่มวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน ข้อที่ 23 ประกอบกิจการ รับกำจัดขยะ ขนย้ายขยะ และแปรรูปพร้อมจำหน่าย, 27 กันยายน 61 นายนพคุณ แถมพยัคฆ์ นายกเทศมนตรีหัวรอ เซ็นลงนาม ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ เก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยให้กับบริษัทไทยมีดี จำกัด

นางวัชราวรรณกล่าวต่ออีกว่า ในมุมมองของชาวบ้าน การเพิ่มวัตถุประสงค์บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนฯ เพื่อยื่นประกวดราคาอันนี้ไม่ผิด แต่ก็มีข้อพิรุธที่เพิ่มก่อนเทศบาลฯ ออกใบอนุญาตให้เพียง 2 วัน แล้วเทศบาลฯ ไม่พิจารณาเลยหรืออย่างไรว่าผู้ประกอบการมีความชำนาญหรือไม่ ข้อสังเกต ตรงนี้มันเป็นขบวนการ มันมีนอกมีในอะไรหรือไม่ การทำประชาคมทางบริษัทต้องมาขอมติของประชาชนก่อนว่าอนุญาตไหมแล้วค่อยดำเนินการก่อสร้าง

ต่อมา 1 ตุลาคม 61 ชาวหัวรอรวมตัวไปร้องเรียนคัดค้านการเปิดบ่อขยะที่ศาลางกลางฯ โดยมีรองผู้ว่าฯ พิษณุโลกลงมารับหนังสือ และทางชุมชนทราบมาว่าท้องถิ่นจังหวัดฯ ได้ออกหนังสือแนะนำลงวันที่ 4 ตุลาคม 61 ให้มีการทำประชาคมใหม่อีกครั้งส่งมาที่เทศบาลฯ หัวรอ แต่ทางเทศบาลฯ ก็ยังไม่ดำเนินการทำประชาคมใหม่

7 พฤศจิกายน 61 ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโครงการนี้ที่ บก.ควบคุม กกล.รส.จว.พล.หนังสือร้อนเรียนเลขที่ 108/61 เลขรับเรื่อง คือ 213 มีผลทำให้เกิดจาการประชุมชี้แจงในวันที่ 6 ธันวาคม 61 ซึ่งในการเข้ารับฟังชี้แจงครั้งนั้นชาวบ้านผู้เข้าร่วมรับฟังก็ยังไม่ได้แสดงเจตนา ยินยอมเห็นด้วยกับการเปิดบ่อขยะ ยังมีผู้คัดค้านจำนวนมาก กระทั่ง 7 ก.พ. 62 นายกเทศมนตรีตำบลหัวรอ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 ตรวจบ่อขยะ ม.11 ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก ว่าเป็นไปตามแบบหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น