xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 4 มาตรา พ.ร.บ.ข้าวฉบับ สนช. “หายนะชาวนาไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เปิด 4 มาตราใน พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... ฉบับแก้ไขปรับปรุงโดย สนช.ซึ่งภาคประชาชน-นักวิชาการจวกเละว่าแทนที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวนาไทยเข้มแข็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับจะซ้ำเติมให้ทุกข์ยากมากขึ้นเป็นได้แค่ลูกไล่นายทุน

จากเอกสารประกอบการแถลงการณ์ สภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติและองค์กรภาคี คัดค้าน พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... ซึ่งนัดแถลงข่าวพร้อมกันทั่วประเทศในวันนี้ (18 ก.พ.) โดยทางสภาองค์กรชุมชนฯ ได้ตั้งฉายาให้กับ ร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า...ฉบับ “พราง ลับ ลวงชาวนา ขังคอก”

ทั้งนี้ ในเอกสารได้ระบุถึงบทบัญญัติที่อาจมีผลกระทบต่อชาวนาและเกษตรกรมีอยู่หลายมาตรา ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิตชาวนาไทยอย่างหนักหนาสาหัส เช่น มาตรา 12 ว่าด้วยกรรมการและอำนาจหน้าที่: มาตรา 12 (1) วรรคสอง ที่ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการในการจัดทำ “กรอบนโยบาย แผนงานและมาตรการตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกำหนดแนวทางการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการผลิต การบริหารจัดการแหล่งน้ำ เพื่อประโยชน์ในการปลูกข้าวตามแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยแผนพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐบาล ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่เกี่ยวข้อง

ข้อห่วงใย : จะทำให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดทำ Megaproject ขนาดใหญ่โดยอ้างอำนาจหน้าที่ตามนโยบาย พ.ร.บ.ข้าว.... เช่น การสร้างเขื่อน การเวนคืนที่ดิน การกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จนทำให้เกิดหนี้สาธารณะของประเทศ จนนำไปสู่การสร้างปัญหาความขัดแย้งในสังคม และจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างไม่รู้จบ


มาตรา 21 ว่าด้วยการกำกับดูแลการผลิตข้าว : ในวรรคสอง ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจัดทำเขตศักยภาพการผลิต

ข้อห่วงใย : การกำหนดกฎเกณฑ์ การจัดทำเขตศักยภาพการผลิตจะนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพทางการผลิตข้าวของชาวนา นำไปสู่การสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศการผลิต ซึ่งในวิถีวัฒนธรรมทางการเกษตรของประเทศไทยที่มีความหลากหลายภูมินิเวศ เช่น ภูมินิเวศ ภู โคก ทุ่ง ทาม หากการกำหนดเขตศักยภาพทางการผลิตขาดความเป็นธรรมและขาดความเข้าใจ จะนำไปสู่การบีบพื้นที่การปลูกข้าวให้เล็กลง

โดยใช้มาตรา 22 ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์เข้าควบคุมจนชาวนาสูญเสียอำนาจทางการผลิตข้าว และหันไปสู่การปลูกพืชอุตสาหกรรมอื่น จนนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศทางการผลิต จนกระทั่งจะทำให้ชาวนาก่อหนี้ จากการเพาะปลูกพืชอุตสาหกรรมอื่นแทนข้าว และจะนำพาประเทศไปสู่การสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติ

แม้รัฐมนตรีจะมีการดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการตามมาตรา 6 แต่มีผู้แทนที่เป็นข้าราชการโดยตำแหน่งมากถึง 14 คน ชาวนาเพียง 2 คน จะก่อให้เกิดการครอบงำ!

มาตรา 22 “การควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าวและการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว การได้มาซึ่งใบอนุญาตของผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด”

ความตามมาตรานี้มีข้อห่วงใย กรณีให้อำนาจสูงสุดต่อรัฐมนตรี แม้จะมีคณะกรรมการตามมาตรา 6 แต่มีผู้แทนที่เป็นข้าราชการโดยตำแหน่งมากถึง 14 คน ชาวนาเพียง 2 คน จึงง่ายต่อการชี้นำการกำหนดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม หากเกิดการล็อบบี้ การได้ข้อมูลที่บิดเบือนก็จะนำไปสู่การใช้ดุลพินิจ จนละเลยหลักธรรมาภิบาล กรณี “พาราควอต” ในมาตรานี้จะเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชันจากการออกใบอนุญาตผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกและนำไปสู่การผูกขาดผู้ตรวจสอบเพียงไม่กี่ราย

มาตรา 26 “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตพันธุ์ข้าว ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 22 และไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ตาม พ.ร.บ.นี้” และในวรรคสอง “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ชาวนาซึ่งซื้อขายแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในนาของตัวเอง รวมถึงมิให้บังคับแก่บุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด”

ข้อห่วงใยในมาตรานี้ : เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการรับรองตามกรอบเกณฑ์เท่านั้นที่จะผลิตและจำหน่ายได้ ซึ่งผู้รับรองคือรัฐมนตรี หากการออกกรอบเกณฑ์มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ที่ขาดธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การถ่วงดูล ซึ่งในมาตรานี้ได้เปิดช่องไว้ “มิให้บังคับแก่บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด” จะเป็นการเปิดช่องให้นายทุนที่มีเทคโนโลยีมีทุนผูกขาดการผลิตเมล็ดพันธุ์เพียงไม่กี่ราย และประเทศไทยจะสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม

แม้ในวรรคสองจะดูเหมือนผ่อนคลายช่องทางให้ชาวนาผลิตได้ แต่ก็ถูกบีบให้เพียงแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งโดยศักยภาพของชาวนาที่ผลิตตามวิถีดั้งเดิม การที่จะมีเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งปนเปื้อนหรืออาจมีข้าวอื่นปน ตามมาตรา 23 มาตรา 24 จนถึงขั้นเข้ามาตรฐานที่จะได้รับการอนุญาตนั้น ชาวนาต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก

หากชาวนาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเองและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ก็จะถูกระวางโทษ ตามมาตรา 29 คือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 100,000 บาท และยังซ้ำเติมชาวนาด้วยการบีบให้ชาวนาเล็กลงอีก “ผลิตในที่นาของตนเอง”

ซึ่งในความเป็นจริง มีชาวนาจำนวนมากที่เป็น นาเช่า นาที่ยังไม่ได้รับการถ่ายโอนมรดก นาที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน นาที่บุกรุกแผ้วถางรอการพิสุจน์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการล้อมกรอบ องค์กรเกษตรกร สหกรณ์ สมาคม และกลุ่มองค์กรที่ทำการวิจัย หรือพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์แบบดั้งเดิม ซึ่งมีที่ดินรวม ถ้าการผลิตที่ไม่ได้ตามกรอบเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์ออกจำหน่าย

จึงเป็นการล้อมกรอบให้ชาวนามีข้อจำกัดทางการผลิตเมล็ดพันธุ์ และเปิดช่องทางให้เกิดการผูกขาดโดยกลุ่มทุนที่มีอำนาจในการใช้เทคโนโลยีที่ออกข้อกำหนดโดยรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น