อ่างทอง - ช่างแทงหยวก เมืองอ่างทอง โชว์ฝีมือภูมิปัญญาชาวบ้าน แทงหยวกประดับตกแต่งเบญจาที่อาบน้ำนาคงานบวชลูกชาย แกะฉลุเป็นลายไทยสวยงาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.พ.) ได้พบกับความสวยงามการแทงหยวก ตกแต่งประดับเบญจาที่อาบน้ำนาค งานบวชและบายศรีทำขวัญนาค ที่บ้านของ นายลมูล เมฆกระจาย อายุ 59 ปี ครูภูมิปัญญาช่างแทงหยวก ที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาแบบไทย ที่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 5 ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ที่ร่วมกับช่างแทงหยวกในจังหวัดอ่างทอง ทำการตกแต่งประดับตกแต่งเบญจาที่อาบน้ำนาค และบายศรีทำขวัญนาคในงานบวชของลูกชาย เป็นลายไทยต่างๆ มีความงดงามอ่อนช้อยตามแบบศิลปะไทย ซึ่งปัจจุบันมีการคิดนำมาประยุกต์ใช้หลากหลาย โดยในสมัยโบราณนิยมแทงหยวกในงานมงคลต่างๆ เช่น งานบวช งานโกนจุก ตัดจุก แต่คนสมัยใหม่เข้าใจกันว่าจะใช้เฉพาะงานศพ
ด้าน พ.จ.อ.สุรเดช คงเดช อายุ 70 ปี ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาศิลปะการแทงหยวก กล่าวว่า ศิลปะการแทงหยวก หรือวิทยาลัยในวังเรียกว่า การจักหยวก เป็นวิชาความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยใช้วัสดุที่หาง่าย คือ ต้นกล้วย นำมาสร้างงานฝีมือซึ่งมักใช้ในงานตกแต่งประดับประดาเมรุเผาศพ เบญจา และบายศรีงานบวช งานกฐิน และงานตกแต่งอื่นๆ สืบทอดกันมาหลายร้อยปี งานแทงหยวกเป็นงานศิลปะอันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำหยวก หรือกาบต้นกล้วย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติมาแกะฉลุเป็นลายไทย พร้อมด้วยการลงสีขึ้นลายจนเป็นศิลปะ การแทงหยวกนั้นมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ช่างแทงหยวกในจังหวัดอ่างทอง จึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลปะการแทงหยวก เพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป