xs
xsm
sm
md
lg

อดีตสาวโรงงานผันตัวเลี้ยงแพะล้อมคอก ควบคู่ทำเกษตรผสมผสาน ตามรอยพ่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชัยนาท - อดีตสาวโรงงานเมืองชัยนาท ผันตัวมาเลี้ยงแพะล้อมคอก ควบคู่กับการทำเกษตรผสมผสาน ตามรอยพ่อหลวง ร.9 ช่วยปลดหนี้สิน มีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างไม่ขัดสน

วันนี้ (15 ก.พ.) อดีตสาวโรงงานแบกหนี้สิน 2 ล้านบาท กลับบ้านเกิดที่ชัยนาท ใช้เวลา 3 ปี ผันตัวมาเลี้ยงแพะแบบล้อมคอก เป็นอาชีพหลัก ควบคู่กับทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชและเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ เดินตามรอยพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้มีรายได้ทั้งรายวันและรายเดือน นำไปเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่ขัดสน แถมยังช่วยปลดหนี้สินได้แล้วกว่า 5 แสนบาท

น.ส.รัชดา นุ่มหอม อายุ 48 ปี เกษตรกร ม.12 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เจ้าของตรีชฎาฟาร์ม เปิดเผยว่า เมื่อก่อนเคยทำงานโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มานาน 19 ปี ด้วยความเป็นคนใจดี จึงนำเงินที่เก็บสะสมไว้ ไปปล่อยให้คนกู้ยืม แต่ถูกลูกหนี้โกง ทำให้เป็นหนี้สินถึง 2 ล้านบาท จึงลาออกจากโรงงาน แล้วกลับมาบ้านเกิดที่จังหวัดชัยนาท มาช่วยพ่อแม่ทำนา แต่พบกับราคาข้าวตกต่ำ ทำให้ไม่มีกำไร ซ้ำยังเป็นหนี้เพิ่มขึ้น จึงคิดหาวิธีทำการเกษตรแบบอื่นที่ให้อยู่รอดได้

จึงได้ไปศึกษาดูงานด้านการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ จ.เพชรบุรี ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องเกษตรพอเพียง ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากสภาเกษตรกรจังหวัดชัยนาท จึงได้หันมาเลี้ยงแพะแบบล้อมคอก ควบคู่ไปกับการปลูกพืชแบบผสมผสาน

โดยปรับเปลี่ยนที่ดิน จำนวน 12 ไร่ของครอบครัว แบ่งเป็นบ้านพักอาศัย สระน้ำ โรงเรือนเลี้ยงแพะ คอกเลี้ยงวัว และทำการยกร่องแปลงปลูกไม้ผล เช่น กล้วย ส้มโอ มะม่วง แปลงปลูกพืชผักสวนครัว แปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ แปลงปลูกหญ้าแพงโกล่า และแปลงปลูกกระถิน ไว้สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ ส่วนในสระน้ำและร่องน้ำเลี้ยงปลานิลและปลาตะเพียน ไว้บริโภคและจำหน่าย นอกจากนี้ ยังแบ่งที่นาไว้ 1 ไร่ สำหรับปลูกข้าวไว้บริโภคเองในครอบครัวเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

การทำเกษตรผสมผสานของ น.ส.รัชดา จะเลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสม จำนวน 70 ตัว เป็นหลัก รองลงมาคือ การเลี้ยงวัว จำนวน 10 ตัว ไว้สำหรับขายเนื้อ ระหว่างที่รอให้ลูกแพะและลูกวัวโตพอได้น้ำหนักที่จะจับขาย เป็นรายได้รายเดือน ก็จะเก็บพืชผักสวนครัว ตะไคร้ มะกรูด มะระ กล้วย มะละกอ มะม่วง และจับปลานิล ปลาตะเพียนในบ่อขายเป็นรายได้เสริมรายวัน ส่วนหญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่า และกระถินที่ปลูกไว้จะตัดนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงแพะและวัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต

สำหรับการเลี้ยงแพะของที่นี่ จะเลี้ยงแพะพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์บอ กับพันธุ์แองโกลนูเบียน โดยเลี้ยงแบบฟาร์มปิด มีการล้อมคอก สร้างเป็นโรงเรือนยกพื้นให้แพะได้อาศัย และมีที่ว่างให้แพะได้เดินกินอาหาร ใช้ตาข่ายคลุมโรงเรือนช่วยป้องกันยุงและแมลง ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เป็นอาหารที่ผสมระหว่างหญ้าเนเปียร์ หญ้าแพงโกล่า และต้นกระถิน นำไปสับแล้วนำไปให้แพะกิน

ยังมีการเสริมธาตุอาหารให้แก่แพะ ด้วยการให้กินมันเทศ โดยนำไปฝานเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง 3-4 วัน นำไปให้แพะกินเป็นอาหารเสริมได้ ซึ่งจะช่วยให้แพะตัวอวบอ้วนแข็งแรง ส่วนพื้นดินรอบโรงเรือนจะใช้น้ำหมัก EM ฉีดพ่นพื้น และโรยปูนขาว ช่วยป้องกันเชื้อโรค ทำให้แพะไม่ป่วยไม่ติดเชื้อโรคง่าย และไม่ต้องฉีดยาถ่ายพยาธิบ่อยๆ

ปัจจุบัน น.ส.รัชดา ได้เข้าร่วมกลุ่มการเลี้ยงแพะ กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสรรคบุรี เป็นแบบเกษตรแปลงใหญ่ ใช้ชื่อว่า “กลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่แพะเนื้อเมืองสรรค์” ซึ่งทางกลุ่มได้ทำบันทึกข้อตกลง MOU กับฟาร์มที่รับซื้อแพะเพื่อนำไปจำหน่าย ทำให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน และสามารถจำหน่ายแพะตัวผู้ ขนาดน้ำหนัก 15-20 กิโลกรัม ได้ในราคากิโลกรัมละ 130 บาท หรือประมาณ 2,000-2,600 บาทต่อตัว

นายธนยศ นงบาง หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า การจัดตั้งกลุ่มแพะแปลงใหญ่ของกลุ่มวิสาหกิจแปลงใหญ่แพะเนื้อเมืองสรรค์ เป็นความร่วมมือของเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง ที่ร่วมมือกันทำการผลิต โดยเอาการตลาดมานำการผลิต ทำให้เป็นกลุ่มแพะแปลงใหญ่แห่งแรกที่สามารถทำเป็นอาชีพ และอยู่ได้อย่างมั่นคง

ปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 52 ราย มีแพะรวม จำนวน 3,000 ตัว สามารถผลิตแพะส่งจำหน่ายได้เดือนละ 300 ตัว ราคาตัวละกว่า 2,000 บาท เป็นรายได้ที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้อย่างสบาย โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาทและปศุสัตว์อำเภอสรรคบุรี ได้เข้าไปช่วยเกษตรกรดูแลในเรื่องของคุณภาพการผลิต การจัดการในเรื่องของอาหารสัตว์ และให้ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และสามารถเลี้ยงแพะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้

ทั้งนี้ หากใครสนใจเรียนรู้วิธีการเลี้ยงแพะแบบล้อมคอก หรือการทำเกษตรแบบผสมผสาน สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ตรีชฎาฟาร์ม โทรศัพท์ 09-3134-9967 หรือติดต่อได้ที่ปศุสัตว์อำเภอสรรคบุรี





กำลังโหลดความคิดเห็น