xs
xsm
sm
md
lg

มช.เดินหน้าติดเครื่องวัดฝุ่นจิ๋วทุกตำบลทั่วเชียงใหม่ ผลวิจัยชี้ชัด PM 2.5 ทำคนเจ็บ-ตายเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงใหม่ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินหน้าติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศทั่วเชียงใหม่ทุกตำบล-รายงานเรียลไทม์ให้ชาวบ้าน-หน่วยงานรัฐรู้ หลังวิกฤตหมอกควันทำ 9 จังหวัดเหนือบนอ่วมซ้ำซาก แถมผลวิจัยชี้ชัด PM 2.5 พุ่งทุก 10 มคก.ทำคนเสี่ยงเจ็บ-ตายเพิ่ม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และตาก ประสบปัญหาหมอกควันเป็นประจำทุกปี

โดยมีปัจจัยสำคัญคือ 1) การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า เป็นต้น 2) สภาพภูมิประเทศ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ฯลฯ

3) สภาพภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา และ 4) หมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีการเผาป่าและเตรียมการเกษตรมากขึ้น ทั้งพม่า, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม

“หมอกควัน ไฟป่าส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย สร้างความสูญเสียต่อระบบนิเวศน์ทั้งทรัพยากรป่า ดิน น้ำ สัตว์ป่า รวมถึงระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค การท่องเที่ยวทุกรูปแบบทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศ ทำภาพลักษณ์ของประเทศติดลบในสายตาของชาวโลก”

จากปัญหาดังกล่าว คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีแผนที่จะติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดเล็กพัฒนาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งสามารถตรวจวัดปริมาณฝุ่นควัน PM 10, PM 2.5 และ PM 1.0 แบบ real time ให้ครบ 205 ตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะทำการติดตั้งที่องค์กรปกครองสวนท้องถิ่นแห่งละ 1 เครื่อง

เพื่อรวบรวมข้อมูลปริมาณฝุ่นควัน PM 10, PM 2.5 และ PM 1.0 เก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ พร้อมทั้งคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศจากจุดตรวจวัดดังกล่าวทุกตำบลในจังหวัดเชียงใหม่ รายงานดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่รายชั่วโมงจากจุดตรวจวัดทุกตำบล ทางเว็บไซต์ และ Application ในโทรศัพท์มือถือ และแปลผลดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพของชาวเชียงใหม่และแจ้งเตือนประชาชนในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศเป็นรายชั่วโมง รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างทันเหตุการณ์ โดยทั้งหมดนี้อาศัยข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศในการสื่อสารและส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการลดการเผาขยะ และช่วยกันสอดส่องและเฝ้าระวังชุมชนของตัวเอง

อนึ่ง ผลการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่า ทุก ๆ 10 มคก./ลบม.ของค่าฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และทำให้ประชาชนทั่วไปเสียชีวิตรายวันจากการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 0.4 ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยขนาดใหญ่ทั่วโลก (อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4-0.8)

นอกจากนี้ ยังพบว่าถ้าค่าฝุ่นควัน PM 2.5 เฉลี่ยต่อวันสูงเกินค่ามาตรฐาน 25 มคก./ลบ.ม. ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จะทำให้อัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรงเฉียบพลันจนต้องเข้าห้องฉุกเฉินหรือนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30-40 ได้แก่ โรคอุบัติเหตุเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ โรคหอบหืดกำเริบ เป็นต้น

และในระยะยาว ผลการศึกษาพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบม.ที่เพิ่มขึ้นของค่าฝุ่นควัน PM 2.5 เฉลี่ยต่อปี ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลง 1.03 ปี มีอัตราการเสียชีวิตรายปีสูงขึ้นร้อยละ 4-6 เจ็บป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงขึ้นร้อยละ 8-14 และในปี ค.ศ. 2015 องค์การอนามัยโลกระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศสูงถึงร้อยละ 6.8-7.3 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือราวกว่า 30,000 ราย

ซึ่งภัยจากมลพิษทางอากาศนอกอาคารถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความทุพพลภาพของมวลมนุษยชาติลำดับที่ 5 รองจากความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ น้ำตาลในเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง ผลการศึกษาล่าสุดพบว่าหากประเทศไทยสามารถลดค่าฝุ่นควัน PM 2.5 ลงได้ร้อยละ 20 จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชาชนลดลงได้ถึงร้อยละ 22
กำลังโหลดความคิดเห็น