อุดรธานี - ตัวแทนหน่วยงานภาคเอกชนนัดถกประเด็นร้อนโอนย้ายสนามบินอุดรธานีให้ ทอท.บริหาร ชี้มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่หากโอนให้ ทอท.ดูแลแล้วประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดก็พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แต่มีข้อแม้ว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ
จากประเด็นร้อน กรณีนโยบายโอนย้ายท่าอากาศยาน 4 แห่งในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร ไปให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการ ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องนั้น
ล่าสุดวันนี้ (10 ก.พ. 62) ตัวแทนภาคเอกชนหลายองค์กร ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี, หอการค้าจังหวัดอุดรธานี, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ อุดรธานี, UD TOWN และภาคประชาชนได้นัดเปิดเวทีเสวนา ในประเด็นสนามบินนานาชาติอุดรธานี วันนี้เป็นของใคร ที่ลานเสวนา UD TOWN อ.เมืองอุดรธานี
ในวงเสวนาได้มีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียในการโอนย้ายการบริหารจัดการจากกรมท่าอากาศยานสู่การบริหารของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ความคิดเห็นโดยรวมพอสรุปได้ว่า ในส่วนของข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการของประชาชนสูงขึ้นแน่นอน ทั้งค่าธรรมเนียมสนามบิน ค่าบริการต่อเนื่องในสนาม หรือแม้แต่สินค้าอาหารและเครื่องดื่มร้านค้าภายในสนามบินราคาจะสูงมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่จะได้รับจากการบริหารของบริษัทมหาชน คือ การบริหารจัดการจะคล่องตัวมากขึ้น ข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบน้อยลง
ทั้งนี้ ปัจจุบันสนามบินอุดรธานีมีผู้ใช้บริการปีละกว่า 2.6 ล้านคน แนวโน้มผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผนการพัฒนาสนามบินนานาชาติอุดรธานีภายในปี 2565 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3.5 ล้านคน และหากมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร อาคารที่ 3 แล้ว จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 7.4 ล้านคน
ในวงเสวนา ความเห็นส่วนใหญ่พร้อมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง หากมีการพัฒนาให้สูงกว่ามาตรฐาน มุ่งสู่ระดับสากล และประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด ขอให้เน้นการพัฒนาการบริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้พัฒนาด้านการตลาดที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น หวังดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสาน เชื่อมโยงไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีจังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี
กระนั้นก็ตาม กรณีการโอนย้ายสนามบินให้บริษัทมหาชนบริหารจัดการนั้น มีข้อแม้ว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนโอนย้าย