xs
xsm
sm
md
lg

อนุสนธิช้างตกมันกระทืบควาญดับ..คนเลี้ยงช้างดันออกกฎหมายสับตะขอ-คล้องโซ่เลี้ยงตามขนบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้เข้าร่วมอบรมการควบคุมช้างอาละวาดและช้างตกมัน
เชียงใหม่ – อนุสนธิช้างปางช้างดังเชียงใหม่ กระทืบควาญร่างเละดับอนาถ..ปลุกกระแสคนเลี้ยงช้างดันออกกฎหมายให้ใช้โซ่-ตะขอ ควบคุมช้างตามขนบแทนปล่อยอิสระต่อหน้านักท่องเที่ยว แต่ควาญผวาแอบใช้หนังสติ๊ก-ตะปูคุมช้างแทน

ดร.บุญทา ชัยเลิศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยฝ่ายอาเซียนสัมพันธ์ ได้เปิดการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการปางช้างด้านการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ประจำปี 2562 และการฝึกอบรมการควบคุมช้างอาละวาดและช้างตกมัน ที่สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคม 62 ที่ผ่านมา ณ ปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่

สพ.ญ.ดร.ภัคนุช บันสิทธิ์ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยในการศึกษาระดับปริญญาเอก หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ “ปัจจัยทางด้านการจัดการปางช้างที่มีผลต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของช้าง” บรรยายถึงความเหมาะสมของการเลี้ยงช้างเพื่อสวัสดิภาพที่ดี กำลังเป็นที่จับตาของต่างชาติ

แม้สถานที่ประกอบการช้างหลายๆ แห่งจะใช้ชื่อว่าแซงชัวรี่ (Sanctuary) ก็ตาม แต่จะมีความเหมาะสมหรือไม่ สภาวะความเป็นอยู่ สวัสดิภาพดีเพียงพอไหม ? เป็นจุดที่นักกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์จากต่างประเทศดูอยู่ เราจะต้องทำอย่างไร ให้การเลี้ยงช้างของพวกเราเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้มีภาพรวมที่ดีขึ้น และต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ทั้งในด้านความปลอดภัยและสวัสดิการ สวัสดิภาพที่ดีของควาญช้างด้วย ไม่ใช่เพียงแต่มองในด้านสวัสดิภาพที่ดีของช้างเพียงฝ่ายเดียว

โดยในหลักการของการจัดการสัตว์เลี้ยงที่ได้มาตรฐานในระดับสากลนั้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงช้างไทยให้มีสวัสดิภาพที่ดีได้ด้วย เช่น มีอาหารและน้ำสะอาดที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของช้าง อาหารมีความสดใหม่ และหลากหลาย ช้างมีความสะดวกสบายจากสภาพแวดล้อมที่ดี มีร่มเงาให้พัก มีการรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ มีพื้นทีเพียงพอต่อการเคลื่อนไหว โซ่มีความยาวที่เหมาะสม ช้างมีสุขภาพที่ดี มียาและอุปกรณ์ในการรักษาดูแลที่เหมาะสม ช้างอยู่อย่างมีความสุขปราศจากความหวาดกลัวและทรมาน

และข้อสุดท้าย ช้างสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมตามปกติวิสัยได้ มีการสืบพันธุ์ตามฤดูกาลที่เหมาะสมเพื่อเป็นการดำรงเผ่าพันธุ์ เป็นการอนุรักษ์ช้างโดยไม่มีการบังคับขืนใจแต่อย่างใด
น.สพ.เพชธิศักดิ์ สมบัติภูธร สาธิตการควบคุมช้างอาละวาดและช้างตกมัน
ด้าน น.สพ.เพชรธิศักดิ์ สมบัติภูธร สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ ผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมช้างตกมัน กล่าวถึงปัญหาช้างอาละวาดมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ความเครียด การตกใจ ความกลัว หรือช้างนั้นมีนิสัยที่ดุร้ายอยู่แล้ว รวมถึงการตกมันของช้างในช่วงฤดูการผสมพันธุ์ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างอาละวาด ยากต่อการควบคุม เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตผู้คนที่อยู่ในบริเวณและยังเป็นอันตรายต่อช้างด้วยกันเองอีกด้วย

น.สพ.เพชรธิศักดิ์ บอกว่า ควาญช้างต้องมีความเข้าใจและเอาใจใส่ดูแลช้างของตนให้ดี มีวิธีการจัดการที่เหมาะสม ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อทั้งช้างและคน มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดการช้างตกมัน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเป็นหมู่คณะ ไม่สามารถที่จะดำเนินการเพียงลำพัง แต่การจัดการจะง่ายและสะดวกต่อการควบคุมช้างได้มากขึ้น ถ้าควาญช้างได้รับการอบรมและมีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ช้างแสดงอาการเบื้องต้น

“โรงพยาบาลช้าง ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยที่ จ.ลำปาง มีคณะทำงานเพื่อดูแลและจัดการช้างตกมันที่พร้อมจะดำเนินการช่วยเหลือ เมื่อมีการร้องขอทุกเมื่อ ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะจัดการช้างตกมันได้ด้วยตัวเอง”

ส่วนในการดูแลช้างปกติที่ไม่ได้อยู่ในช่วงของการตกมันนั้น ช้างโดยธรรมชาติเขาเป็นสัตว์ป่า แม้จะนับเป็นช้างบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์หลายช่วงอายุแล้วก็ตาม ก็ต้องฝึกให้เขายอมรับในการใช้ตะขอ และโซ่ในการควบคุมดูแล และต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม ใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อให้การอยู่ร่วมกับคนได้อย่างปลอดภัย ใช้เพื่อเป็นภาษาในการสื่อสาร ไม่จำเป็นต้องสับหรือทำร้ายเขาให้ได้รับบาดเจ็บ ใช้เพื่อความปลอดภัยของคนเลี้ยง นักท่องเที่ยว และ แม้กระทั่งต่อช้างด้วยกันเอง เพื่อควบคุมการทะเลาะวิวาทในหมู่ช้างเกเร

“โซ่และตะขอสำคัญมากในการควบคุมช้าง เห็นควรว่าควรจะมีกฎหมายในการควบคุมการเปิดกิจการปางช้าง เพื่อเป็นการดูแลให้ความยุติธรรมทั้งช้างและคน เพื่อสวัสดิภาพและสวัสดิการที่ดีทั้งสองฝ่าย”

นายวนชาติ บูรพาเกียรติ ผู้จัดการและควาญช้างปางช้างไทยอิเลแฟนท์โฮม บ้านแมตะมาน ต.กื้ดช้าง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าได้รับประโยชน์มากในการเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมดูแลช้างอาละวาด-ช้างตกมัน และวิธีการป้องกันตัว การระวังตัวในการเข้าหาช้างตกมัน ช้างอาละวาด

โดยส่วนตัวที่คลุกคลีกับช้างมานานตั้งแต่เป็นควาญช้างจนทุกวันนี้เป็นผู้จัดการปางช้าง ก็ยังคลุกคลีอยู่กับช้างมาโดยตลอด นับว่ารู้จักนิสัยช้างดีพอ ขอยืนยันว่าช้างกับตะขอเป็นของคู่กันที่ต้องใช้ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ควบคุมลำบาก เราจะแจ้งกับลูกค้าตรงๆ ว่าเราต้องใช้เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และความปลอดภัยของตัวควาญเองด้วย

“เห็นควรที่ต้องออกเป็นกฎหมายควบคุมอย่างจริงจังว่าให้ผู้เลี้ยงช้าง ต้องใช้ตะขอต้องใช้โซ่ในการเลี้ยงช้าง เราต้องยอมรับความเป็นจริง อย่าไปบิดเบือนความจริงของการเลี้ยงช้างไทยเรา”

นายอภิชิต ดวงดี ควาญช้างและเจ้าของปางช้างเอเลแฟ่นท์เรสคิวย์ปาร์ก กล่าวว่าการเลี้ยงช้างโดยไม่ใช้โซ่กับตะขอนั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ ถ้าฝืนทำก็จะกลายเป็นข่าวเศร้าอย่างที่ปรากฏมาเมื่อปลายปีที่แล้ว เราต้องมองไปที่ความปลอดภัยก่อน บางแห่งใช้วิธีบอกลูกค้าว่าไม่ใช้ตะขอและโซ่ แต่ก็แอบใช้ในเวลากลางคืน หรือเวลาที่ไม่มีลูกค้า ไม่ให้ลูกค้าเห็นเวลาใช้

“ถ้าจะให้ตนไปทำงานในปางช้างที่ประกาศว่าไม่ใช้โซ่ใช้ตะขอในการเลี้ยงช้าง ก็จะไม่ไปทำเป็นอันขาด เพราะกลัวตาย แต่ก็มีเพื่อนๆ ทำงานในปางช้างประเภทนั้นบ้าง เขาก็ไม่ได้เต็มใจเท่าไหร่ ต้องจำใจทำ เพราะเจ้าของเขาบังคับไม่ให้ใช้และให้รายได้ดี แต่พวกเขาก็รู้สึกกลัวและไม่มั่นใจ เลยมีการแอบใช้หนังสติ๊กและตะปูในการควบคุมช้างแทน”
นายธีระภัทร ตรังปราการ เจ้าของปางช้างภัทรเอเลแฟ่นท์ฟาร์ม และนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย
นายธีรภัทร ตรังปราการ เจ้าของกิจการภัทรเอเลแฟ้นท์ฟาร์ม และนายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย Thai Elephant Alliance Association ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ช้างโดยภาคเอกชน ให้ความเห็นว่า กิจกรรมอบรมในครั้งนี้มีประโยชน์ ควรที่จะจัดอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาวะจริงในการทำงานมีหลายเหตุปัจจัย ควรมีการซักซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอในการดูแลและจัดการช้างอาละวาดช้างตกมัน ทางปางช้างภัทรของตนก็พร้อมที่จะช่วย เสียสละส่งทีมจิตอาสามาอบรมและพร้อมที่จะเข้าไปช่วยในเหตุการณ์จริงถ้ามีช้างอาละวาด

ส่วนในความเห็นเรื่องของการใช้อุปกรณ์ควบคุมช้างเช่นโซ่ หรือ ตะขอนั้น ที่ปางช้างของตนก็ใช้ในภาวะจำเป็นต่างๆ เช่น ในการรักษาพยาบาล เพื่อสะดวกในการให้สัตวแพทย์ตรวจรักษาในสถานการณ์ที่ต้องควบคุมบ้างเป็นพิเศษ ส่วนในกรณีปางช้างที่จะไม่ใช้ตะขอหรือโซ่ในการควบคุมในการเลี้ยงช้างนั้น ส่วนตัวเห็นว่าถ้าช้างมีจำนวนน้อยแค่ 1-3 เชือกก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเป็นปางใหญ่มีช้างจำนวนมาก ก็ลำบากในการควบคุมดูแล

“ถ้ามองระยะสั้นอาจจะมองเห็นว่าการไม่ใช้อุปกรณ์ในการควบคุมดูแลช้างนั้นให้อิสระแก่ช้าง แต่ในความเป็นจริงนั้นช้างก็ถูกกักขัง ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่แต่ในคอกกั้นอยู่ดี แม้ว่าจะไม่ล่ามโซ่ไว้ ซึ่งเป็นทฤษฎีลวงว่าช้างนั้นได้รับอิสระ แต่ไม่ใช่เลย มันกลับส่งผลเสียมากกว่าที่จะมีผลดีกับตัวช้างเสียด้วยซ้ำ คือช้างจะมีความเครียดมากกว่าช้างที่ถูกล่ามโซ่ในพื้นที่เปิด ซึ่งมีผลการวิจัยรับรองอย่างเป็นทางการในการตรวจหาฮอร์โมนความเครียดของช้างในดุฏฎีนิพนธ์ของ สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์ จากศูนย์เพื่อความเป็นเลิศในการวิจัยช้างและสัตว์ป่า”

สำหรับแนวทางในการเลี้ยงช้างโดยไม่ใช้ตะขอกับโซ่เป็นอุปกรณ์ในการควบคุมดูแลช้างนั้น เป็นเพียงกระแสเพื่อลวงให้เข้าใจผิดว่าช้างได้รับอิสระ แต่บางแห่งก็เป็นการแค่ได้รับอิสระต่อหน้าลูกค้าเท่านั้น ในความเป็นจริงคือใช้แต่ไม่บอก ไม่เคยเห็นที่ไหนจะทำได้จริงเลย หรือแม้ว่าจะทำจริงๆ ก็เป็นการจับช้างเข้าขังในคอกเหมือนเดิม เป็นอิสระแค่เพียงในชั่วโมงที่ลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมเท่านั้น

ส่วนการเสนอให้มีข้อกฎหมายควบคุมการเลี้ยงช้างนั้น เห็นว่ามีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงออกต่อการรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้อื่น ทั้งนักท่องเที่ยว คนเลี้ยงช้าง หรือแม้แต่ช้างด้วยกันเองก็จะปลอดภัยจากอันตรายที่มาจากการทะเลาะวิวาทกันของช้างด้วย

“ขอเน้นย้ำว่าการเลี้ยงช้างโดยไม่มีอุปกรณ์การควบคุมดูแลช้างนั้น เป็นการริดรอนสิทธิของผู้เลี้ยงช้าง ของนักท่องเที่ยว และของตัวช้างเองด้วย”

ขณะที่นางสาวปักษธร สมินทรปัญญา นักวิชาการแรงงานชำนาญงาน สำนักงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าร่วมศึกษาดูงานและอบรมในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า แรงงานจังหวัดฯ มีหน้าที่ดูแลลูกจ้างให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ประสบอันตรายในการทำงาน ซึ่งการทำงานเกี่ยวกับช้าง ตามที่ได้เห็นมาถือว่ามีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่สามารถสร้างอันตรายได้มาก ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงได้เข้ามาศึกษา เพื่อหาทางดูแลและคุ้มครองคนเลี้ยงช้าง ให้มีความปลอดภัยในการทำงานและมีสวัสดิการที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น