ราชบุรี - ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เผยได้ขนย้ายสารฝนหลวง มาที่สนามบินโพธาราม เตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย จะใช้เครื่องบินคาราแวนรวม 3 ลำ และ Super King Air เตรียมทำฝนเมฆเย็นช่วยเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง
วันนี้ (31 ม.ค.) ในพื้นที่ภาคกลางประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ทางจังหวัดราชบุรีได้ออกบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มีหนังสือด่วนที่สุด จากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรีเรื่อง ห้ามเผาไร่ นา ขยะ ฯลฯ โดยเด็ดขาดในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ถึงนายอำเภอ ผู้อำนวยการอำเภอ ทุกอำเภอ /นายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง/ผู้อำนวยการท้องถิ่น
ตามที่จังหวัดราชบุรีได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามข้อมูลรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและอาจขยายเป็นวงกว้าง เพื่อให้คุณภาพอากาศในบรรยากาศจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ขอให้อำเภอ เทศบาลเมือง ดำเนินการตามประกาศกองอำนวยการฯ สำหรับอำเภอให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ทราบและดำเนินการเข้มในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้เพื่อให้คุณภาพอากาศในบรรยากาศของจังหวัดราชบุรีอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานและประชาชน ให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยงาน ปฏิบัติเป็นตัวอย่างในการงด การเผาทุกชนิดในพื้นที่รับผิดชอบ ขอให้ประชาชน งดการกระทำอันเป็นเหตุให้เกิด กลิ่น ความร้อน สิ่งมีพิษ ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า
หากมีการฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี ตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ได้แก่ งดเผา เศษวัสดุในครัวเรือน เศษวัชพืชในที่กว้าง การเผาหญ้าในเขตไหล่ทางในพื้นที่เขตเมือง งดเผา ในพื้นที่การเกษตรโดยเด็ดขาด อีกทั้งได้มีหนังสือถึงกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้มีการปฏิบัติทำฝนเทียมช่วยลดฝุ่นละออง ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้มีการวัดค่าอยู่ที่ 85 ไมโครกรัม
ด้านนายวีระพล สุดชาฎา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เปิดเผยการเปิดฐานเติมสารฝนหลวงที่ จ.ราชบุรี ว่าหลังทราบว่าพื้นที่ราชบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงกำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงให้เปิดฐานเติมสารฝนหลวงขึ้น
โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาเขตราชบุรี อ.โพธาราม ให้ใช้สนามบินของวิทยาลัยฯเป็นการชั่วคราวในการเติมสารฝนหลวงขึ้นอากาศยาน กรณีถ้าสภาพอากาศเอื้อต่อการทำฝน หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วนครสวรรค์ ซึ่งมีเครื่องบินคาราแวนจำนวน 3 ลำ สามารถบินขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนที่ 1 เมื่อก่อเมฆเสร็จแล้ว จะลงมาใช้สนามบินโพธาราม เป็นจุดเติมสารฝนหลวงขึ้นอากาศยาน เพื่อขึ้นบินปฏิบัติการในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้จะนำเครื่องบิน Super King Air จากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาช่วยในการบินตรวจวัดสภาพอากาศ และเตรียมการเพื่อทำฝนเมฆเย็น กรณีถ้าหากมีกลุ่มเมฆที่มียอดเมฆสูงมากกว่า 18,000 ฟุต เพื่อเพิ่มการพัฒนาตัวและกระจายตัวของฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่
นอกจากนี้ทางหน่วยตรวจสอบสภาพอากาศยังได้ส่งบอลลูนขึ้นไปตรวจวัดสภาพอากาศ ในช่วงเวลาประมาณ 7.00 น. เพื่อวัดค่าอากาศความชื้น ทิศทาง และความเร็วของลม ความกดอากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับวันนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ได้จัดส่งรถยนต์ในการขนสารฝนหลวงประกอบด้วย สูตรที่ใช้ให้ก่อเมฆ 3.5 ตัน สูตรที่เลี้ยงให้อ้วน 2 ตัน สูตรโจมตี 0.5 ตัน รวม 6 ตัน เดินทางมาถึงที่สนามบินโพธารามราชบุรีแล้วเมื่อเช้าวันนี้ เพื่อให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วนครสวรรค์ได้ใช้ปฏิบัติการทำฝนหลวงในช่วงแรกไปก่อนและจะทยอยส่งขึ้นไปสนับสนุนเรื่อยๆ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ราชบุรีและใกล้เคียงให้ได้โดยเร็ว
นายณฐพล อุ่มเอิบ ประธานอาสมัครฝนหลวง จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับอาสาสมัครฝนหลวง เดินทางมาตรวจสอบดูพื้นที่สนามบินโพธาราม วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่ได้อนุเคราะห์ให้ใช้สนามบินเพื่อเติมสารฝนหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้เคยใช้สนามบินปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ราชบุรีแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เติมแหล่งน้ำธรรมชาติมาแล้วประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ซึ่งสนามบินโพธาราม สามารถลดระยะทางไม่ต้องกลับไปเติมสารที่หน่วยปฏิบัติการหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ต้องบินนะระยะทางไกล สามารถใช้สนามบินเป็นฐานเติมสารได้หลายศูนย์ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดระยะทางให้ทันเวลาในช่วงการก่อตัวของก้อนเมฆที่มีเวลาจำกัด เพื่อให้การปฏิบัติการทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ทางผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ได้ประสานงานเพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งประสานไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์พื้นที่ราชบุรี อีกทั้งได้รับการประสานจากนายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานขอฝนหลวงช่วยเหลือดำเนินการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ยังได้ให้อาสาสมัครฝนหลวงทั้ง 10 อำเภอไปขอความร่วมมือชาวบ้าน เกษตรกร อย่าจุดไฟเผาป่า เผาอ้อย เผาขยะที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาดังกล่าว ซึ่งคาดว่า เมื่อศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่รับผิดชอบเข้าไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง หากมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยก็จะสามารถปฏิบัติการสลายฝุ่นละอองช่วยเหลือพื้นที่ราชบุรีและใกล้เคียง