ศูนย์ข่าวศรีราชา -ปัญหาขยะล้นเมืองพัทยาและเกาะล้าน จ.ชลบุรี กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตล้นเมือง ขณะที่การจัดเก็บ รวมทั้งที่ทิ้งขยะยังมีปัญหา และแม้ภาครัฐจะเสนอทางออกในการจัดการด้วยการจัดการที่ทิ้งขยะใหม่ และทำโรงไฟฟ้าขยะ ชาวบ้านก็ไม่ต้องการ
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบให้มีการจัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย ระหว่างปี 2559-2564 โดยถือเป็นนโยบายแห่งชาติ ในส่วนของ จ.ชลบุรี ถือเป็นอีก 1 พื้นที่เป้าหมายที่จะต้องมีการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากการขยายตัวของเมือง แหล่งท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้ปริมาณขยะในหลายพื้นที่ของ จ.ชลบุรี โดยเฉพาะเมืองพัทยา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไร้ทิศทางแก้ไขและกำจัด
ก่อนหน้านี้ แม้ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี จะได้ออกประกาศจังหวัด ให้มีการรวมกลุ่มพื้นที่จัดการขยะมูลฝอยในท้องถิ่นแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ประกอบด้วย เทศบาลฯ และองค์การบริหารส่วนตำบลใน อ.ศรีราชา ที่มีขยะประมาณวันละ 585 ตัน
กลุ่มที่ 2 คือ เมืองพัทยา ท้องถิ่นอำเภอบางละมุงและสัตหีบ ที่มีปริมาณขยะ 850 ตันต่อวัน โดยให้เมืองพัทยา เป็นเจ้าภาพหลักในการกำจัดขยะด้วยการสร้างโรงกำจัดขยะไร้มลพิษ
กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย เขตอำเภอเมืองชลบุรี และพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ ที่มีจำนวนขยะ 625 ตันต่อวัน
กลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย 6 อำเภอ คือ พนัสนิคม บ้านบึง พานทอง หนองใหญ่ บ่อทอง และเกาะจันทร์ ที่มีปริมาณขยะ 550 ตันต่อวัน โดยพื้นที่ อ.บ้านบึง เป็นผู้รับผิดชอบ
และกลุ่มที่ 5 คือ เกาะสีชัง ที่มีขยะประมาณ 10 ตันต่อวันนั้น
แต่สุดท้ายการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ จ.ชลบุรี ดูเหมือนจะไม่มีอะไรคืบหน้า
ค้านทิ้งขยะที่เขาไม้แก้ว-ไม่เอาโรงไฟฟ้า
โดยเฉพาะเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เวลานี้ปัญหาขยะล้นเมือง และไม่มีการจัดการที่เป็นรูปธรรม ได้สร้างปัญหามากมายให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ และประชาชนในพื้นที่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ชาวบ้านได้ออกมารวมตัวกันคัดค้านการใช้ศูนย์กำจัดขยะเขาไม้แก้ว เป็นพื้นที่ในการกำจัดขยะแบบครบวงจร
จนนายกเทศบาลตำบลหนองปรือ ต้องเปิดทางให้คณะทำงานหาพื้นที่ใหม่เพื่อให้โครงการเดินหน้า เตรียมชงแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่กระทรวงมหาดไทยในวันที่ 9 มีนาคมนี้
นายธรรมศักดิ์ รัตนธัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานการแก้ไขปัญหาขยะกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย Cluster ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ได้จัดให้มีการประชุมร่วมคณะทำงานที่ประกอบด้วย จ.ชลบุรี อ.บางละมุง และเมืองพัทยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา เพื่อหารือการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ซึ่งมีประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ จ.ชลบุรี รวมกลุ่มพื้นที่ในการกำจัดแบบครบวงจร ในลักษณะ Cluster อย่างจริงจัง
ขณะที่ นายสุธีร์ ทับหนองฮี ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เผยว่า การกำจัดขยะในกลุ่ม Cluster ที่ 2 ของเมืองพัทยา มีแผนสร้างศูนย์กำจัดขยะแบบเตาเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ทิ้งขยะเดิมที่มีเนื้อที่ถึง 140 ไร่ ใน ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง ตามแผนการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ เพื่อลดปริมาณขยะในพื้นที่ และหากการดำเนินงานเป็นตามแผนจะสามารถแก้ไขปัญหาขยะในกลุ่มที่ 2 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
แต่สิ่งที่ท้องถิ่นจะต้องแบกรับคือ ค่าใช้จ่ายในการเผาทำลายในอัตราตันละ 650-800 บาท ซึ่งในเบื้องต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือด้วยดี จะมีก็เพียงองค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว หนองปรือ ตะเคียนเตี้ย และเขาชีจรรย์ ที่ยังไม่มีหนังสือตอบรับ เพราะมองว่าค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บสูงเกินไป
ที่สำคัญพื้นที่ทิ้งขยะเดิมใน ต.เขาไม้แก้ว จากการทำประชาพิจารณ์และการสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ พบว่า ไม่ยินยอมให้เมืองพัทยา เข้าจัดการปัญหาตามแผนงานหลังจากปิดใช้งานพื้นที่ทิ้งขยะเดิมมานานกว่า 8 ปี โดยให้เหตุผลว่า เมืองพัทยา ไม่มีแผนในการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำแผนจัดการดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้แก้ไขเงื่อนไขการดำเนินงานด้วยการหาผู้ลงทุนต่อไป
ขณะที่ นายมาย ไชยนิตย์ นายกเทศบาลเมืองหนองปรือ กล่าวว่า พื้นที่หนองปรือ ใช้ระบบกำจัดขยะด้วยการฝังกลบมานาน และที่ผ่านมา ได้จัดซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่ เพื่อทำการฝังกลบจนเต็มแล้ว และจากนี้จะต้องจัดซื้อที่ดินใหม่ขนาด 20 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณขยะที่มีมากถึงวันละ 120 ตัน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณขยะในระยะ 10 ปีนับจากนี้
“แผนการกำจัดในระบบกลุ่มคงไม่มีปัญหา แต่อัตราค่าธรรมเนียมเฉลี่ยตันละ 650-800 บาท ถือว่าสูงเกินไป เนื่องจากศักยภาพของแต่ละท้องถิ่นต่างกัน ส่วนพื้นที่เขาไม้แก้ว ที่เมืองพัทยา จะนำมาจัดสร้างเตาเผาชาวบ้านก็ต่อต้าน ดังนั้น ในวันนี้จึงควรก้าวข้ามปัญหานี้ไปก่อน ด้วยการจัดหาที่ดินแห่งใหม่ และให้ อปท.ที่มีส่วนร่วมในกลุ่มระดมเงินทุนตามปริมาณของขยะแต่ละท้องที่เพื่อจัดซื้อและดำเนินการตามแผน เพราะหากยังรอเรื่องที่ดินก็คงไม่มีโอกาสที่จะดำเนินการได้สำเร็จ” นายมาย กล่าว
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองพัทยา ในขณะนี้ต้องรอการนำข้อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในการหาพื้นที่สร้างเตาเผาขยะ เพื่อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล เพื่อให้รับทราบถึงความก้าวหน้าของการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในกลุ่ม Cluster จ.ชลบุรี ภายในวันที่ 9 มีนาคมนี้
“เกาะล้าน” ก็เจอปัญหาขยะล้นเกาะ
นอกจากที่เมืองพัทยา เจอปัญหาขยะล้นเมือง “ชุมชนบ้านเกาะล้าน” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองพัทยา วันนี้ปัญหาขยะที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และการก่อสร้างที่พักและรีสอร์ตรุกล้ำทะเล ก็ยังคงเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานพยายามหาทางแก้ไข เพราะไม่ต้องการให้เกิดสภาพเสื่อมโทรม และกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับความนิยมในอนาคต
ที่ผ่านมา หลายหน่วยงานใน จ.ชลบุรี ได้พากันเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและดูสภาพปัญหาและจำนวนขยะตกค้างที่มีมากกว่า 5 หมื่นตัน บริเวณเขานม หน้าหาดแสม ที่ส่งกลิ่นเหม็นเน่าทำลายบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ที่ขณะนี้แนวทางแก้ไขปัญหาก็ยังไม่ชัดเจน แม้สภาเมืองพัทยา จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการจัดการปัญหาขยะหลายล้านบาทแล้ว แต่ปริมาณขยะตกค้างที่เพิ่มขึ้นทุกวันยังไม่ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้ “เกาะล้าน” อยู่ห่างจากชายฝั่งเมืองพัทยาประมาณ 7.5 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ไร่ มีประชากรกว่า 3,000 คน จากจำนวนครัวเรือนกว่า 600 กว่าครัวเรือน และเมื่อบวกรวมกับประชากรแฝง ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีปริมาณผู้คนหนาแน่นกว่า 5 แสนคน ทั้งยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อนเฉลี่ยวันละ 1.5-2 หมื่นคน หรือกว่า 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากสถิติในปี 2559 พบว่า เกาะล้าน สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวมกว่า 47 ล้านบาท จากชายหาดที่สวยงาม 6 แห่ง คือ หาดตายาย หาดทองหลาง หาดตาแหวน หาดสำราญ หาดเทียน หาดแสม และหาดสังวาลย์
แต่ด้วยระบบสาธารณูปโภคที่รองรับมีปัญหา อีกทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำกับดูแลมีอัตรากำลังที่จำกัด จึงทำให้เกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเสีย และขยะมูลฝอยที่มีมากถึงวันละ 15-20 ตัน
การแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้ใช้วิธีการขนถ่ายขยะจากเกาะขึ้นมากำจัดบนฝั่งด้วยเรือขนถ่าย แต่ก็พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สภาพของเรือขนถ่ายที่ชำรุดจึงทำให้ไม่สามารถขนถ่ายขยะมากำจัดได้ทั้งหมด ผลที่ตามมาคือ จำนวนขยะที่ยังคงตกค้าง ซึ่งเมืองพัทยา ได้พิจารณาให้ใช้พื้นที่ 12 ไร่ บริเวณเขานม เป็นสถานที่พักขยะ แต่จากปริมาณการเก็บขนที่ไม่สอดคล้อง จึงทำให้มีขยะตกค้างและสะสมขึ้นเรื่อยๆ จนมีมากกว่า 50,000 ตัน
และหากในวันนี้ปัญหาขยะล้นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยา และเกาะล้าน ยังไร้ทางแก้ไขเช่นเดียวกับการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะที่ถูกต่อต้านในทุกพื้นที่ ก็ดูเหมือนว่าการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC ที่จะผลักดันกลุ่มทุนและภาคอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาจะยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมที่สร้างปัญหาให้หนักหน่วงมากขึ้นกว่าเดิม
ปัญหาเหล่านี้ท้องถิ่นคงไม่มีอำนาจอะไรมากมายที่จะจัดการ หรือฟันธงว่า จะใช้วิธีไหนในการแก้ไขขยะ เพราะดูเหมือนว่า หันไปทางไหนก็ไร้ทางออก ขยะที่วิกฤตในพื้นที่จะจบลงแบบไหน วันนี้คงต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า จะยังปล่อยให้ท้องถิ่นใช้อำนาจที่มีอยู่น้อยนิดแก้ปัญหา หรือต้องจัดยาแรงใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาแบบหลายเรื่องที่ผ่านมา เพราะขยะชาวบ้านก็ไม่อยากได้ โรงไฟฟ้าจากขยะชาวบ้านก็ไม่เอา ...???