ลำปาง - แกะรอยเส้นทางสุดพิลึก..4 ปี 4 ผู้ว่าฯ “สมาคมสโมสรนครลำปาง” ถูกปล่อยร้าง-โจ๋มั่วสุมไม่เว้นวัน สวนทางเจตนารมณ์เจ้าของที่ดั้งเดิม พบทำทิ้งทวนไม่พอ แก้ระเบียบเอื้อยกที่แปลงงามกลางเมืองให้ผู้เสนอประโยชน์ต่ำเช่า 30 ปีแบบแสนถูก
ที่ดินแปลงงาม-ทำเลทองติดสวนสาธารณะเขลางค์นคร กลางเมืองลำปาง เนื้อที่ 6-3-84.5 ไร่ ที่ตั้งของ “สมาคมสโมสรจังหวัดนครลำปาง” ถูกล้อมรั้วห้ามเข้ามาตั้งแต่ปลายปี 58 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการพัฒนาใดๆ จนกลายเป็นเหมือนที่ร้างกลางเมือง-แหล่งมั่วสุมของวัยรุ่นที่มักมุดรั้วเข้าไปมั่วสุมไม่เว้นวัน แถมถนนสาธารณะที่ประชาชนเคยใช้เป็นที่จอดรถระหว่างการมาออกกำลังกายซื้อของในตลาดก็ถูกปิดตายโดยปริยาย
เรื่องราวสุดพิลึกเกี่ยวกับที่ทำเลทองลำปางแปลงนี้ เกิดขึ้นห้วงสัปดาห์สุดท้ายเดือนกันยายน 2558 เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ในขณะนั้น) ซึ่งได้ลงนามเซ็นเอกสารสำคัญหลายฉบับ โดยหนึ่งในนั้นคือการลงนามในฐานะ “นายกสมาคมสโมสรจังหวัดนครลำปาง” อนุมัติแผนงานโครงการพัฒนาพื้นที่โดยให้เอกชนเข้ามาทำสัญญาเช่าพื้นที่สมาคมสโมสรฯ แปลงนี้นานถึง 30 ปี ด้วยราคาประมูลเพียง 3 ล้านบาทเศษ และค่าเช่ารายเดือน เดือนละหมื่นกว่าบาทเท่านั้น
โดยใช้เวลาในการพิจารณาคัดเลือก 20 วัน ก่อนประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือก วันที่ 28 ก.ย. 58 และ ลงนามสัญญาเช่าในวันที่ 30 ก.ย. 58 ว่ากันว่าเอกชนรายนี้เสนอผลตอบแทนต่ำกว่าเอกชนที่ยื่นเสนอแผนงานทั้งสิ้น 6 ราย
นายนพสิทธิ์ ธีระดนัยพงศ์ จ่าจังหวัดลำปาง (ในขณะนั้น) ในฐานะเลขานุการนายกสมาคมสโมสรจังหวัดลำปาง เคยระบุว่า คณะกรรมการพิจารณาแผนงานของผู้เสนอแผนพัฒนาสโมสรจังหวัดนครลำปาง 6 ราย โดยไม่ได้พิจารณาจำนวนตัวเลขค่าเช่า และค่าบำรุงสโมสรสูงสุด แต่พิจารณาแผนงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อสโมสร สมาชิก และประชาชนชาวลำปางเป็นหลัก รวมถึงคำนึงถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์หรือไม่เป็นหลัก
โดยบริษัทที่ได้รับคัดเลือก คือ บริษัท เดอะ สลิป จำกัด และบริษัท สลีป แอทสยาม จำกัด เสนอแผนสร้างเป็นโรงแรม รายที่ 2 เสนอสร้างคอนโดมิเนียม ที่พักอาศัยรวม 7 ชั้น รายที่ 3 เสนอสร้างศูนย์การค้าเพื่อสุขภาพ รายที่ 4-5 สละสิทธิ์ ให้เหตุผลว่าขาดความพร้อม ส่วนรายที่ 6 เสนอสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ พร้อมปรับปรุงสนามเทนนิสและบริเวณโดยรอบเพื่อใช้ในการออกกำลังกาย โดยผู้ที่ชนะประมูล (บริษัท เดอะสลิปฯ และบริษัท สลิป แอทสยามฯ) มีแผนจะทำโรงแรมระดับ 4-5 ดาว มูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ทำห้องน้ำชดเชยบางส่วนของสนามเทนนิส และจะทำอาคารสโมสรทดแทนของเดิมที่จะต้องทุบทิ้ง เมื่อครบ 30 ปี อาคารดังกล่าวก็ตกเป็นของสโมสร จึงขอเชิญชวนข้าราชการ และอดีตข้าราชการสมัครเป็นสมาชิกเพื่อจะได้รับส่วนลดหากมาใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูง พบว่า การประกาศสมาคมสโมสรจังหวัดนครลำปาง เรื่องเสนอแผนงาน/โครงการพัฒนาที่ดิน และ/หรือสิ่งปลูกสร้าง มีข้อชวนสงสัยหลายประเด็น เริ่มตั้งแต่การแก้ไขระเบียบของสมาคม ซึ่งใช้มาตั้งมาตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมปี 2470 โดยมาแก้ไขในเดือนกรกฎาคม 2557 คือ
(1) เรื่องสมาชิกสามัญ เดิม ได้แก่ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พนักงานส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งปฎิบัติงานในจังหวัดลำปาง ตลอดจนประชาชนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดลำปาง แก้ไข โดยตัดประชาชน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดลำปางออก
(2) เรื่องการเลือกตั้งนายกสมาคม อุปนายก เดิมให้คณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกนายกสมาคม 1 คน อุปนายก 1 คน แก้ไขเป็นให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นนายกสมาคม และผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นอุปนายกสมาคม คนที่ 1
3) การแก้ไขระเบียบข้อบังคับของสมาคมในระเบียบระบุว่า จะต้องเป็นมติในที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด แต่ปรากฏว่า ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค. 57 มีผู้เข้าร่วมประชุม 40 คน
ขณะที่เอกชนที่ร่วมเสนอแผนงานเข้าแข่งขัน พร้อมด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่า ได้ร้องไปยัง ป.ป.ช., สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, ศาลปกครองเชียงใหม่, สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและจะเข้ายื่นฟ้องศาลจังหวัดลำปาง เพื่อขอไต่สวนฉุกเฉิน ให้ระงับการการประกาศผลการคัดเลือกผู้เสนอแผนงานฯ
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันทำสัญญา คือ 30 ก.ย. 58 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 4 ปี อาคาร-สถานที่สมาคมฯ กลับถูกล้อมรอบด้วยรั้วสังกะสีห้ามมิให้ผู้ใดเข้าใช้ประโยชน์ และภายในบริเวณถูกปล่อยรกร้าง ปกคลุมด้วยต้นไม้หญ้า ขณะที่ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงแจ้งว่ามักมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าไปในอาคารและมั่วสุมกันบ่อยครั้ง
ทั้งนี้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เจ้าของที่ดินเดิมมอบหรือขายที่ดินให้รัฐ (จังหวัดฯ) เพราะต้องการให้ประชาชนคนลำปางทั้งหมดได้ใช้ประโยชน์ในด้านกีฬา การออกกำลังกาย และเป็นปอดให้กับคนลำปาง แต่กลับมีการแก้ไขข้อบังคับสมาคมฯ ไม่ให้ประชาชนคนลำปางเข้าเป็นสมาชิก
และที่สำคัญ จากวันที่ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินสมาคมสโมสรจังหวัดลำปาง 30 ก.ย. 58 ข้อที่ 6 ที่ระบุว่า “ผู้เช่าจะเริ่มดำเนินการปลูกอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ลงในที่ดินของผู้ให้เช่าภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา (วันที่ 30 กันยายน 2558) ข้อที่ 10 ระบุว่า “หากผู้เช่าผิดนัด ผิดสัญญา หรือไม่ปฎิบัติตามสัญญานี้ข้อหนึ่งข้อใด ผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าใช้สิทธิบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติตามสัญญานี้ หรือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายได้ตามความเป็นจริง” แต่ทว่าผ่านมาเกือบ 4 ปี 4 ผู้ว่าฯ พื้นที่ดังกล่าวกลับถูกปิดล้อมห้ามเข้าเช่นเดิม โดยไม่มีการดำเนินการใดๆ
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องดังกล่าว ทราบว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ แม้แต่การประชุมสมาคมฯ ขณะที่ “นายกสมาคมฯ” แม้จะเกษียณไปแล้วเกือบ 4 ปี ก็ยังคงมีชื่อเป็นนายกสมาคมฯ เช่นเดิม!?
สำหรับสมาคมสโมสรจังหวัดนครลำปาง เดิมชื่อ “สโมสรข้าราชการจังหวัดนครลำปาง” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2470 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคี และเพื่อส่งเสริมกีฬา ต่อมา 2483 สโมสรลำปางสปอร์ตคลับ ได้ขายที่ดินบริเวณที่ตั้งสมาคมปัจจุบันให้แก่คณะกรรมการจังหวัดลำปาง (ถือได้ว่าทำหน้าที่แทนประชาชนชาวลำปางทั้งหมด) จำนวน 45 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา เป็นเงิน 3,900 บาท และคณะกรรมการจังหวัดได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่สมาคมเมื่อปี 2496
ปี 2533 คณะกรรมการสมาคมฯ ได้มีมติมอบที่ดิน 34 ไร่เศษ ให้แก่เทศบาลนครลำปาง เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ โดยมีเงื่อนไขให้เทศบาลชดเชยค่าที่ดินแก่สมาคมเป็นเงิน 13,000,000 บาท โดยได้นำมาสร้างอาคารสมาคมหลังใหม่ และสนามเทนนิสขนาดมาตรฐาน 4 คอร์ต เสร็จในปี 2535