ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เปิดใจ “อาจารย์ท็อป” ครูช่างสร้างนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่หลวงพ่อคูณ เผยเป็นนกยักษ์เคลื่อนไหวได้ตามตำนาน ใช้คน 8 คนคอยคุมกลไกอยู่ภายในให้เคลื่อนไหวต่อสู้กับร่างทรงนางสีดาได้เสมือนจริง
“นกหัสดีลิงค์” ที่จัดสร้างรองรับบุษบกหีบบรรจุสรีระสังขารหลวงพ่อคูณเพื่อใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงในวันที่ 29 ม.ค. 62 นี้ถือเป็นนกหัสดีลิงค์ในตำนานป่าหิมพานต์ตัวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างในงานถวายเพลิงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในประเทศไทย
โดยฐานบุษบกสร้างเป็นรูป 8 เหลี่ยม กว้าง 16 เมตร ความสูงของนกหัสดีลิงค์เทินบุษบกตัวนี้ 22.60 เมตร ราวบันไดรอบเมรุทั้ง 4 ด้านประดับด้วยงานปั้นพญานาคหนึ่งเศียร รายล้อมด้วยสัตว์บริวารจากป่าหิมพานต์สีขาวล้วนหลากหลายชนิดทั้ง 4 ทิศ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่บนเขาพระสุเมรุ
ดร.ยุทธพงษ์ มากวิเศษ หรืออาจารย์ท็อป อาจารย์ประจำภาควิชาวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในฐานะครูช่างสร้างนกหัสดีลิงค์ตัวดังกล่าว เปิดเผยว่า ตามวิถีโบราณจะใช้วิธีการเขียนลายก็สามารถทำให้ผิวนกเกลี้ยงได้ แต่โจทย์ของตัวนกหัสดีลิงค์ตัวนี้ที่ต้องเป็นสีขาว สื่อถึงความเรียบง่าย สมเกียรติ ความบริสุทธิ์ ยกเว้นส่วนบนยอดฉัตรนกหัสดีลิงค์จะเป็นสีทอง
ทางเราก็ต้องสร้างมิติในการมองให้เห็นความสวยงาม ด้วยการปั้นรูปนูนต่ำออกมาเพื่อให้เกิดแสง เงา รูปนูนต่ำที่ทำขึ้นก็นำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับองค์หลวงพ่อคูณมาใช้ คือนำส่วนประกอบของดอกคูน ทั้งใบ เกสรมาเป็นแนวทางออกแบบตัวนก
โครงสร้างนกหัสดีลิงค์ทำจากไม้จริงตามหลักวิศวกรรมเพื่อให้รองรับน้ำหนักตามขนาดของตัวนก ส่วนการขึ้นโครงขึ้นรูปนั้นจะกรุด้วยไม้ไผ่ขัดแตะทำเป็นส่วนประกอบอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น ปีก หาง ฯลฯ ทั้งนี้ ด้านนอกโครงที่เป็นพื้นผิวตัวนกนั้นใช้การตกแต่งตัดแปะด้วยกระดาษเทคนิค Paper marche
ดร.ยุทธพงษ์กล่าวต่อว่า หลังสร้างและตกแต่งนกหัสดีลิงค์เสร็จแล้วก็ได้ทำพิธีเบิกเนตรไปแล้ว และทุกวันในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น.จะทำการ “ขับนก” คือให้นกเคลื่อนไหวตามกลไกที่สร้างไว้ ที่ต้องขับนกเป็นประจำทุกวันไปจนกว่าถึงวันพระราชทานเพลิงนั้น ในเชิงช่างถือเป็นการเช็กความพร้อมของระบบกลไก ขณะเดียวกันก็อยากให้ประชาชนเห็นว่านกสามารถเคลื่อนไหวได้จริง
การเคลื่อนไหวของนกหัสดีลิงค์นั้นไม่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยแต่อย่างใด ยึดตามขนบโบราณทุกประการ คือใช้กลไกเชือกชักรอกและคานกระดกเท่านั้น โดยมีคน 8 คนอยู่ภายในตัวนกคอยชักรอกบังคับให้การเคลื่อนไหวเป็นไปตามกลไกที่ทำไว้ บังคับปากบน 2 คน, ปากล่าง 2 คน, ตา 2 คน, งวง 2 คน และคอนกอีก 2 คน
“วันพระราชทานเพลิงหลังจากเคลื่อนย้ายสรีระองค์หลวงพ่อคูณจาก มข.มายังเมรุลอยชั่วคราวนี้เสร็จแล้ว นกหัสดีลิงค์ตัวนี้จะมีการขับนกเป็นยกๆ หรือเป็นครั้งๆ ไป ครั้งละประมาณ 15 นาที จนถึงเวลา 6 โมงเย็นเมื่อนางสีดาทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์เสร็จ กลไกทุกอย่างหยุดทันที คนขับนกต้องออกมาจากตัวนกและไม่กลับเข้าไปอีก” ดร.ยุทธพงษ์กล่าว
ตามตำนานล้านนาที่กล่าวถึง นกหัสดีลิงค์ เล่าว่า สมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง
ขณะนั้นมีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่าเป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด
แต่ได้มีธิดาแห่งพญาตักกะศิลาเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์ นางมีนามว่า "สีดา" นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตาย และลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน