เชียงใหม่ - คนในวงการช้างไทยเชื่อไม่ล่ามโซ่-ไม่ใช้ตะขอเลี้ยงช้าง ทำทั้งควาญ-นักท่องเที่ยว เสี่ยงซ้ำรอยเหตุสลดควาญปางช้างดังเชียงใหม่ถูกฟาดร่างเละ ขณะที่ปางช้างแม่แตง-สหพันธ์ท่องเที่ยวเปิดอบรมวิธีคุมช้างตกมัน 29 มกราฯ นี้
คนในวงการเลี้ยงช้างยังคงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง กรณีช้างสีดอโฮปตกมันทำร้ายควาญสิ้นใจอย่างน่าอนาถคาคอกช้างศูนย์บริบาลช้าง เอเลแฟ้นท์เนเจอร์พาร์ค อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น โดยเฉพาะในประเด็นวิธีการเลี้ยงช้างแบบปล่อยอิสระโดยไม่ใช้ตะขอ ต่างจากวิธีที่ปฏิบัติกันมาแต่โบร่ำโบราณ
นสพ.พงศ์พัฒน์ ขัตพันธุ์ ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นว่า ในส่วนของปศุสัตว์ที่ดูแลเรื่องสัตว์เลี้ยงทั่วไปนั้น ช้างบ้านก็เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของปศุสัตว์ด้วย โดยดูแลในส่วนของการขนย้ายถ้ามีการซื้อขาย หรือเดินทางเพื่อไปทำงาน ไปโรงพยาบาล ต้องแจ้งที่ปศุสัตว์ ทั้งยังดูแลในส่วนของการขึ้นตั๋วรูปพรรณช้าง และการนำช้างป่ามาสวมบัตรซึ่งผิดกฎหมายทางปศุสัตว์เป็นคนดูแล รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงด้วย
ในกรณีที่ช้างทำร้ายคนจนเสียชีวิตนั้น ปศุสัตว์มีอำนาจสั่งอายัดช้างได้ถ้าปรากฏว่าช้างนั้นมีโรคติดต่อ หรือมีเชื้อโรคในร่างกาย ส่วนการตกมันนั้นเป็นธรรมชาติของช้างในช่วงฤดูกาลผสมพันธุ์ไม่นับว่าเป็นเชื้อโรค ทำให้ในกรณีนี้ไม่สามารถที่จะอายัดช้างไว้ได้เพราะอยู่นอกอำนาจหน้าที่ เป็นธุระของตำรวจที่จะต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ต่อไป
ร.ต.อ.ฐิติวัฒน์ ชลิตเลิศรัตน์ รองสารวัตรสืบสวน สภ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ บอกว่า กรณีสลดใจที่เกิดขึ้นนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุว่ามีช้างฆ่าควาญที่ปางช้างดังแห่งนั้น จึงได้เข้าไปตรวจสอบตามกระบวนการ พบว่าสถานที่เกิดเหตุอยู่ในคอกเสาซีเมนต์ขนาดใหญ่ที่มีลวดหนามพันรอบ หนาแน่น มีการกั้นเป็นสัดส่วน แต่ไม่มีการล่ามช้างด้วยโซ่ใดๆ
ผู้เสียชีวิตที่เป็นควาญช้างประจำสีดอโฮปได้เข้าไปให้อาหารช้างตามปกติ ซึ่งเป็นผู้ดูแลย่อมจะทราบดีว่าช้างมีอาการอย่างไร มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงช้างมาเป็นเวลานาน มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลช้างเชือกนี้ แต่เมื่อเข้าไปแล้วกลับถูกช้างใช้งวงจับฟาดใส่เสาซีเมนต์จนร่างกายแหลกเหลว เหลือเพียงแต่ชิ้นส่วนของศีรษะ ลำตัวส่วนบน และแขนสองข้างที่อยู่ในสภาพฉีกขาด ซึ่งทางเจ้าของปางช้างก็ได้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว และฝ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีช้างตกมันแล้วฆ่าควาญตายนั้นยังเป็นเรื่องที่ถูกวิจารณ์กันในวงกว้างอยู่ เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์วงการช้างไทยและส่งผลเสียต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวด้วย
นายวิทยา ทวีรส เจ้าของปางช้างกมลา จ.ภูเก็ต ได้ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของปางช้างและเป็นควาญช้างเองด้วย ผูกพันและคลุกคลีกับช้างมาตลอด คิดว่าการเลี้ยงช้างแบบไม่ใช้โซ่ ไม่ใช้ตะขอ ไม่มีการควบคุมช้างด้วยวิธีการตามที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณ ทำให้เกิดอันตรายที่ยากแก่การควบคุมได้ดังเช่นหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น
ต่อคำถามว่าถ้าจะมีกฎหมายควบคุมการเลี้ยงช้างให้ปางช้าง ผู้เลี้ยงช้าง จะต้องล่ามโซ่ และใช้ตะขอการเลี้ยงช้างนั้นควรหรือไม่อย่างไร นายวิทยาให้คำตอบว่า เห็นด้วย และถ้าหากทางฝั่งพวกโลกสวยที่เลี้ยงช้างเพื่อธุรกิจ โดยอ้างว่าไม่ใช้ตะขอ ไม่ล่ามโซ่ ยังคงต้องการเลี้ยงช้างแบบปล่อยอยู่ ก็ต้องนำเสนอมาว่าจะมีวิธีการควบคุมช้างอย่างไร ป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุสลดใจขึ้นตามที่เป็นข่าว เพราะมันเสื่อมเสียไปกันหมดกับวงการช้างไทย
“การที่มีแค่คอกซีเมนต์ที่แข็งแรงนั้นยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมช้าง ถ้าเขาเกเรขึ้นมา เขาเป็นสัตว์ตัวใหญ่เราไม่สามารถดึงหางเขาไว้ได้แน่นอน และยิ่งถ้าเลี้ยงแบบปล่อยตั้งแต่ช้างยังเด็กๆ แล้ว ยิ่งจะลำบาก เพราะเขาไม่เคยได้เรียนรู้ที่จะรับฟังคำสั่งแล้วปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นการจูงพาเดิน บอกให้นั่ง หรือนอน หรือยกขาขึ้น”
และถ้าช้างไม่สบายมาจะลำบากมากกับการพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจอาการ ต้องใช้วิธียิงยาสลบถึงจะตรวจรักษาช้างได้ ซึ่งมันไม่ดีต่อช้างเพราะเป็นสารเคมี ถ้าช้างเคยผ่านการบังคับการฝึกมาแล้วจะสะดวกต่อการรักษาเมื่อมีอาการไม่สบาย แค่ควาญช้างออกคำสั่งโดยถือตะขอยืนควบคุมอยู่ข้างๆ ก็สามารถตรวจ หรือฉีดยาเพื่อทำการรักษาได้แล้ว และการเลี้ยงช้างที่ผิดวิธีนั้นจะทำให้ช้างมีนิสัยที่ไม่ดี ซุกซนและดุร้ายในอนาคต เป็นอันตรายแก่คนเลี้ยงและนักท่องเที่ยวได้
สำหรับนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ไม่ต้องการเห็นการใช้ตะขอและล่ามโซ่ เพราะคิดว่าช้างเป็นสัตว์น่ารักไม่ดุร้ายนั้น ก็อยากทำความเข้าใจว่าถึงอย่างไรเขาก็เป็นสัตว์ ไม่ควรเข้าหาช้างเองโดยที่ไม่มีควาญควบคุมอยู่ใกล้ๆ เพราะจะเป็นอันตรายมาก และอยากให้รู้ว่าที่ควาญใช้ตะขอนั้นเป็นการใช้เพื่อความปลอดภัย
“พวกเราเป็นควาญ จะไม่ทำร้ายช้างอย่างไม่มีเหตุผลแน่นอน และอยากจะขอร้องให้คนเลี้ยงช้างให้ข้อมูลจริงๆ กับลูกค้า ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการเลี้ยงช้างไทย ไม่ให้ข้อมูลที่ผิดๆ กับนักท่องเที่ยวเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ ไม่ควรว่าร้ายผู้เลี้ยงช้างที่เขายังรักษาขนบในการเลี้ยงช้างแบบไทยที่สืบเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว”
นสพ.ปรีชา พวงคำ มูลนิธิเพื่อนช้าง สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างระดับต้นๆ ของประเทศไทย ได้รับการยอมรับจากคนเลี้ยงช้างทั่วประเทศและเป็นที่รู้จักกันดีในระดับนานาชาติ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างโดยปล่อยอิสระไม่มีการใช้ตะขอไม่ใช้โซ่ล่ามช้างว่าเป็นการประมาทในการเลี้ยงช้างแบบนี้ เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายเป็นบางครั้ง ถ้าเวลาที่ช้างตกใจแตกตื่นมา หรือถ้าช้างตกมันจะทำอย่างไร
สำหรับกระแสอนุรักษ์ช้างที่สนับสนุนไม่ให้มีการใช้ตะขอและล่ามโซ่ช้างนั้น เป็นเรื่องของพวกสิทธิของสัตว์จากต่างประเทศที่ไม่เข้าใจในเรื่องของช้างไทย ว่าเป็นช้างบ้านมีการเลี้ยงช้างกันมาอย่างยาวนานเพื่อใช้ทำงาน จุดมุ่งหมายของพวกนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เลิกใช้ตะขอหรือห้ามล่ามโซ่ช้าง แต่เขามองไปถึงการเอาช้างไปปล่อยคืนเข้าสู่ป่า เพราะไม่ต้องการให้มีการทารุณสัตว์ อ้างว่าไม่ควรเลี้ยง โดยที่ไม่ได้มองถึงข้อเท็จจริงแต่อย่างใดถึงความเป็นไปได้ที่จะปล่อยช้างคืนสู่ป่า เพราะด้วยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการมันไม่เหมาะสมที่จะเอื้อให้ทำอย่างนั้นได้
ทั้งนี้ ในวันที่ 29 มกราคม 2562 นี้จะมีการจัดการอบรมและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการปางช้าง ด้านการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพประจำปี 2562 โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปางช้างแม่แตง พร้อมฝึกอบรมการควบคุมช้างอาละวาดและช้างตกมัน โดยปางช้างแม่แตงและสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตงที่คลินิกช้างปางช้างแม่แตง บ.แม่ตะมาน ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่