xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยเส้นทางธรรมเทพเจ้าด่านขุนทด “หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “เจ้าด่านขุนทด” คือฉายาที่ญาติธรรมขนานนามให้กับหลวงพ่อคูณ แม้วัยเด็กจะแร้นแค้นยากจน แต่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรมตลอดชีวิตภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ท่านมีแต่ให้

หลวงพ่อคูณ แห่งวัดบ้านไร่ เป็นชื่อติดหูของคนไทยมานานหลายสิบปี ด้วยเอกลักษณ์ท่านั่งยอง หรือการพูดจาภาษาพ่อขุนรามคำแหง แต่สิ่งสำคัญที่ผู้คนมักนึกถึงหลวงพ่อคูณคงหนีไม่พ้นเครื่องรางของขลัง และหลักคำสอนแบบตรงไปตรงมา แฝงไว้ด้วยหลักธรรมอันลึกซึ้งให้ผู้คนนำไปยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต และชีวประวัติอันเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าสนใจมากมาย

ประวัติพระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งภาคอีสาน เกิดในครอบครัวชาวนา ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ขณะนั้นนับเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ หลวงพ่อคูณท่านเกิดเมื่อ 14 ตุลาคม 2466 (แต่บางตำราว่าวันที่ 4 ตุลาคม ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน โดยเป็นบุตรชายคนโตของนายบุญ ฉัตรพลกรัง (บิดา) และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง (มารดา) มีพี่น้อง 2 คน ได้แก่ นายคำมั่น แจ้งแสงใส และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม
หลวงพ่อคูณเข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ, พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ซึ่งได้เรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมที่วัดบ้านไร่ สถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน ตั้งแต่อายุประมาณ 6-7 ขวบ โดยได้ศึกษาภาษาไทยและขอม พระอาจารย์ทั้ง 3 ยังเมตตาสอนวิชาคาถาอาคมป้องกันอันตรายต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณ ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อคูณจึงมีความเชี่ยวชาญวิชาอาคมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก

เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก (หนังสือบางแห่งระบุว่าเป็นปี 2486) มีพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์คือ พระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลังจากอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วได้รับฉายาว่า “ปริสุทโธ” และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระนักปฏิบัติด้านคันถธุระและวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและมีลูกศิษย์จำนวนมาก

หลวงพ่อคูณได้ตั้งใจร่ำเรียนพระธรรมวินัย และอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงนานพอสมควร ก่อนที่หลวงพ่อแดงจะพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ “หลวงพ่อคง พุทธสโร” เนื่องจากทั้งสองรูปเป็นเพื่อนที่มักพบปะแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมต่างๆ แก่กันเสมอ หลวงพ่อคงได้สอนวิชาต่างๆ ให้กับหลวงพ่อคูณด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพรางแต่อย่างใด ใช้วิธีสอนโดยการศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เน้นการมี “สติ” ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบและให้เกิดความรู้เท่าทันในอารมณ์นั้น

พร้อมกับสอนพระกัมมัฏฐาน ใช้หมวดอนุสติ กำหนดความตายเป็นอารมณ์ เรียกว่า มรณัสสติ เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภ ความโกรธ และความหลง กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่าหลวงพ่อคูณมีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป


ทั้งเริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาต่างๆ โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถในปี พ.ศ. 2496 จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่ได้ช่วยกันเข้าป่าตัดไม้ สามารถสร้างพระอุโบสถจนสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันพระอุโบสถหลังดังกล่าวได้ถูกรื้อลงและก่อสร้างหลังใหม่แทนแล้ว นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้สร้างโรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคขึ้น เพื่อพัฒนาความเจริญของพื้นที่บ้านไร่ และตามมาด้วยการสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง และโรงเรียนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะอยู่เสมอ

สิ่งที่ทำให้หลวงพ่อคูณเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน คงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ตามประวัติพบว่าท่านเคยสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกตั้งแต่สมัยบวชได้ประมาณ 7 พรรษา โดยเริ่มจากตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ. 2493 โดยท่านบอกกับผู้มาขอเสมอว่า “ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน”

ปัจจุบันพระเครื่องหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ นั้นเป็นที่นิยมและต้องการของลูกศิษย์และนักสะสมพระเครื่องอย่างมาก หลายรุ่นมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรก ส่วนเรื่อง “เครื่องรางของขลัง” ของหลวงพ่อคูณคงต้องยกให้ ตะกรุดทองคำหลวงพ่อคูณ ซึ่งจะเป็นตะกรุดทองคำฝังใต้แขน ซึ่งท่านจะมีข้อห้าม 2 ข้อ คือ 1. ห้ามด่าแม่ 2. ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น

อย่างไรก็ดี จากประวัติอันน่าสนใจทั้งเรื่องของความแก่กล้าในวิชาอาคม และความแตกฉานในความรู้พระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ ทำให้ท่านได้รับฉายาว่า “ปราชญ์แห่งที่ราบสูง” แม้จะมีท่าทีการแสดงออกที่ตรงไปตรงมาพูดจามึงกู แต่ผู้ใกล้ชิดทุกคนกลับทราบดีว่าหลวงพ่อคูณนั้นมีจิตเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

ไม่เคยมีใครพบเห็นหลวงพ่อคูณกราดเกรี้ยว หรือทุกขเวทนากับเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งที่หลวงพ่อคูณแสดงออกมาทุกครั้งในการให้สัมภาษณ์หรือสนทนาธรรม แสดงให้เห็นว่าท่านมีจิตที่แจ่มใส หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส เป็นที่พึ่งทางธรรมให้แก่ญาติโยมทุกคนอย่างแท้จริง ในช่วงวัยชราของท่าน ท่านมีอาการเจ็บป่วยต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลมาโดยตลอด โดยหลวงพ่อคูณเริ่มมีอาการอาพาธตั้งแต่ปี 2543 ด้วยโรคหัวใจ ซึ่งแพทย์ได้ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจให้ท่านจนอาการดีขึ้นตามลำดับ ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ท่านมีอาการอาพาธอีกครั้งด้วยอาการเลือดคั่งในสมอง ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร ให้แพทย์ผ่าตัดสมองเพื่อเอาลิ่มเลือดออก จนอาการปลอดภัย

จากนั้นวันที่ 26 เมษายน 2552 ท่านอาพาธด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้าและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาหลายวัน จนกระทั่งอาการดีขึ้นและสามารถกลับวัดบ้านไร่ได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 หลังจากนั้นสุขภาพร่างกายของท่านก็อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่อง

จนเมื่อถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 ท่านมีอาการอาพาธด้วยวัณโรคปอด ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอีกกว่า 4 เดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2556 ท่านมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการแทรกคือ หลอดลมอักเสบรวมทั้งเกิดภาวะเสมหะลงคอ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อ คณะศิษย์ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จนกระทั่งอาการท่านเริ่มดีขึ้นตามลำดับ

ก่อนที่คณะแพทย์จะได้นำตัวหลวงพ่อคูณกลับวัดบ้านไร่เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เพื่อพักรักษาตัวอยู่ภายในห้องกระจกที่มีแพทย์และพยาบาลเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติโยมเข้าเยี่ยมเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งตลอดเวลาที่พักรักษาตัวก็มีอาการดีขึ้นตามลำดับ จวบจนกระทั่งเมื่อเวลา 05.40 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ท่านมีอาการหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องนำตัวส่งมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอีกครั้ง โดยคณะแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่อาจยื้อชีวิตได้ ท่านได้ละสังขารไปเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 สิริอายุ 92 ปี

หลังหลวงพ่อคูณท่านละสังขาร ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานโกศโถบรรจุสรีระสังขารพระเทพวิทยาคม พร้อมฉัตรเบญจา เป็นกรณีพิเศษ รวมทั้งพระราชทานน้ำหลวงสรงสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ ขณะที่เจ้าหน้าที่เคลื่อนสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาไปยังอาคาร 25 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่นในคืนวันที่ 16 พ.ค. 2558

การมอบร่างสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นไปตามพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณที่จะมอบร่างสรีระสังขารให้กับคณะแพทยศาสตร์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษา ซึ่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ได้ส่งรถพยาบาลมารับร่างสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณ โดยมีศิษยานุศิษย์มาร่วมไว้อาลัยจำนวนมาก

ก่อนหน้านี้มีการเปิดให้ประชาชนร่วมไว้อาลัยและสักการะร่างสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณที่ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ก่อนเคลื่อนสรีระสังขารไปยังอาคาร 25 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่นในคืนวันที่ 16 พ.ค. 2558

ทั้งนี้ เนื้อหาในพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณมีข้อความว่า ศพของหลวงพ่อคูณ ให้มอบแก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาควิชาต่อไป

กำหนดพิธีการบำเพ็ญกุศลและวางดอกไม้จันทน์ดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21-30 มกราคม ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเมรุลอยชั่วคราวนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก ภายในพุทธมณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมือง สายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่คณะแพทยศาสตร์ใช้เป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แห่งที่ 2

สำหรับกำหนดการ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม เป็นวันเคลื่อนสรีระสังขารของหลวงพ่อคูณจากคณะแพทยศาสตร์ไปที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก วันที่ 22-28 มกราคม จะมีพิธีสวดพระอภิธรรม รวม 4 รอบ คือ 10.00, 14.00, 17.00 และ 19.00 น. โดยพระพิธีธรรม 10 รูป และในเวลา 11.00 น. พิธีถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ส่วนในเวลา 17.30 น. จะเป็นการแสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์

ส่วนวันที่ 29 มกราคม พิธีการจะเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. จากนั้นเวลา 12.00 น. จะเคลื่อนสรีระสังขารหลวงพ่อคูณไปยังฌาปนสถานชั่วคราววัดหนองแวง และเวลา 22.15 น. จะเป็นพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุลอยนกหัสดีลิงค์เทินบุษบก และวันที่ 30 มกราคม จะมีพิธีทำบุญอัฐิและมอบอัฐิแก่ญาติ และลอยอังคารอัฐิของหลวงพ่อคูณลงสู่แม่น้ำโขง ที่จังหวัดหนองคาย

ม.ขอนแก่น กำหนดให้ประชาชนได้ร่วมสวดพระอภิธรรมและร่วมวางดอกไม้จันทน์ แยกเป็นที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ระหว่างวันที่ 22-28 มกราคม ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. และที่ ฌาปนสถานชั่วคราว วัดหนองแวงพระอารามหลวง ภายในเกาะกลางน้ำ ด้านหลังพุทธมณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตั้งแต่เวลา 08.00-22.00 น. โดยดอกไม้จันทน์ที่ประชาชนได้วางนั้น ทุกดอกจะถูกนำไปใช้ในการฌาปนกิจจริงในวันที่ 29 มกราคมนี้

การเข้าร่วมงานดังกล่าวขอให้ประชาชนทุกคนแต่งกายสุภาพ สำรวม และอยู่ในชุดไว้ทุกข์ ที่สำคัญคือ ต้องปฏิบัติตามระเบียบและคำสั่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเคร่งครัด เนื่องจากแต่ละวันจะมีคนมาร่วมงานจำนวนมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น