xs
xsm
sm
md
lg

อลังการ! ปราสาทรวงข้าววัดป่าคำสว่าง มุ่งสร้างสามัคคี-อนุรักษ์บุญอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นครพนม - อลังการ วัดป่าคำสว่างสร้างปราสาทรวงข้าว สืบสานประเพณีบุญกองข้าว เจ้าอาวาสออกกุศโลบาย นำความศรัทธาสู่ความสามัคคี อนุรักษ์บุญอีสาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดป่าคำสว่าง บ้านคำสว่างน้อย หมู่ 5 ต.คำสว่าง อ.เมือง จ.นครพนม ได้มีประชาชน นักท่องเที่ยวต่างเดินทางไปร่วมทำบุญสืบสานประเพณีบุญกองข้าวกันคึกคัก ซึ่งถือเป็นประเพณีอีสาน และเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่การจัดงานบุญกองข้าวของวัดแห่งนี้ถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่จัดขึ้นยิ่งใหญ่เป็นปีที่ 2 และมีรูปแบบการจัดงานที่แตกต่างไปจากที่อื่น

เนื่องจาก พระอธิการภูวดล สุธัมโม อายุ 28 ปี เจ้าอาวาสวัดป่าคำสว่าง ได้มีแนวคิดไอเดียสุดเจ๋ง ด้วยการออกกุศโลบายให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ต่อยอดทำบุญกองข้าวในรูปแบบใหม่ คือ การร่วมกันบริจาครวงข้าวตามกำลังศรัทธา ก่อนนำมาร่วมกันประดับตกแต่งเป็นปราสาทรวงข้าวที่มีความสวยงามอลังการ เพื่อเป็นการดึงดูด เชิญชวนให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้ร่วมแรงร่วมใจกันด้วยพลังศรัทธาสู่ความสามัคคี



อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการนำเอาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวอีสานมาต่อยอดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่ได้สนใจเข้าวัดทำบุญ และร่วมใจกันสืบสานประเพณีโบราณ

สำหรับการสร้างปราสาทรวงข้าวในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่เจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นจากรวงข้าวที่ได้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ก่อนนำมามัดรวมกันประดับตกแต่งเป็นปราสาทที่สวยงามลงตัว อีกทั้งยังมีความวิจิตรสวยงาม ถือเป็นไอเดียสุดเจ๋งที่ต่อยอดจากวิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวบ้าน จากเดิมเพียงการรับบริจาคนำเอาข้าวเปลือกมากองรวมกันเพื่อจัดงานบุญกองข้าว และนำข้าวเปลือกไปขายนำเงินมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา หรือสร้างวัดวาอาราม ตามประเพณีอีสาน

ในครั้งนี้ ทางวัดป่าคำสว่างจะได้นำรวงข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาบริจาคประดับตกแต่งบนปราสาทรวงข้าวไปขายนำปัจจัยมาร่วมสมทบทุนสร้างศาลาการเปรียญของวัด และพัฒนาวัดต่อไป ซึ่งจะมีการจัดงานบุญประเพณีต่อเนื่องทุกปี


พระอธิการภูวดลกล่าวถึงความเป็นมาว่า ปราสาทรวงข้าวถือเป็นประเพณีมีมาตั้งแต่พุทธกาล โดยตามชาดกกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเคยถวายเจดีย์ข้าวก่อนสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ถือเป็นประเพณีสำคัญที่สืบทอดมาแต่โบราณ เช่นเดียวกันกับวัดคำสว่าง เดิมเรียกว่าบุญกองข้าว หรือบุญคูณลาน ตามประเพณีจะนำข้าวเปลือกมารวมกองกัน ถวายพระสงฆ์ จึงได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นกุศโลบายในการให้ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันนำรวงข้าวมาสร้างปราสาทตามกำลังศรัทธา

รูปแบบการก่อสร้างคล้ายปราสาทผึ้ง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ถือว่าใหญ่กว่าทุกปี ได้ศรัทธามากขึ้น ได้ปราสาทรวงข้าวสูงประมาณ 19 เมตร กว้างประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 16 เมตร มีชาวบ้านนำรวงข้าวมาบริจาคมากกว่า 1,000 มัด ล้วนเป็นพลังศรัทธา ก่อนมาร่วมใจกันออกแบบ ประดิษฐ์ตกแต่งให้เกิดความสวยงาม

ถือเป็นการส่งเสริมประเพณีอันดีงาม และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว หลังจากนั้นรวงข้าวทั้งหมดจะนำไปขายเพื่อนำปัจจัยมาสร้างศาลาการเปรียญ คาดว่าจะได้ข้าวเปลือกมากกว่า 1 ตัน ถือเป็นประเพณีสำคัญ โดยจะจัดต่อเนื่องทุกปี


กำลังโหลดความคิดเห็น