xs
xsm
sm
md
lg

ความสุขล้น อดีตผู้รับเหมาพลิกผืนดินแห้งแล้งทำสวนเกษตรตามรอยพ่อหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กาฬสินธุ์ - หนุ่มใหญ่อดีตผู้รับเหมาวัย 45 ปี ชาว อ.ยางตลาด รายได้เดือนละกว่า 5 แสนบาท เบื่องานที่ต้องแข่งขันแม้รายได้สูง กลับบ้านเกิดพลิกผืนดินที่เคยแห้งแล้งทำสวนเกษตรแบบผสมผสานตามรอยพ่อหลวง ทำรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1 พันบาท

จากการติดตามการประกอบอาชีพของชาวบ้านใน จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะในโซนที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีหลายกรณีที่น่าสนใจ โดยล่าสุดผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านหนองกาว หมู่ 5 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด หลังได้รับการแก้ปัญหาและพัฒนา กระทั่งได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้าน ”ท่องเที่ยวนวัตวิถี ของดีบ้านฉัน” ระดับจังหวัด

นายประยงค์ จันทะรัด ผู้ใหญ่บ้านหนองกาว หมู่ 5 กล่าวว่า บ้านหนองกาวอยู่บนที่ราบสูง สมัยก่อนมีปัญหาแห้งแล้ง ทำไร่ทำนาอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก สภาพดินเสื่อมโทรม ชาวบ้านฐานะยากจน ก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่างและหมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถี ของดีบ้านฉัน เมื่อช่วงปลายปี 2561 ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านหน่วยงานราชการต่างๆ

นายประยงค์บอกอีกว่า จากการที่ได้จัดโครงการและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีทำให้เกิดการพัฒนาและต่อยอด แต่ละปัญหาเริ่มได้รับการแก้ไข หมู่บ้านหนองกาวไม่แห้งแล้งอีกต่อไป มีแหล่งน้ำใต้ดินบนดิน ถนนหนทางไปนาไปไร่สะดวก ชาวบ้านมีอยู่มีกิน มีรายได้ มีอาชีพเสริม มีอาชีพหลักที่มั่นคง มีศูนย์เรียนรู้ที่มีศักยภาพ เจ้าของศูนย์เป็นคนรุ่นใหม่ และได้รับการยกย่องเป็นบุคคลต้นแบบ


ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นจุดแข็งให้บ้านหนองกาวได้รับการคัดเลือกจากทางอำเภอเข้าประกวดหมู่บ้านนวัตวิถี ของดีบ้านฉัน และได้รับรางวัลระดับจังหวัดดังกล่าว

ด้านนายมนูญ ขนันแข็ง อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 149 บ้านหนองกาว หมู่ 5 เล่าว่า เดิมตนมีอาชีพรับเหมาขนาดไม่ใหญ่นัก มีรายได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 5 แสนบาท ทำรับเหมานาน 7 ปี ก่อนที่จะพลิกชีวิตกลับมาทำการเกษตรผสมผสานที่บ้านเกิดเมื่อปี 2558 หรือ 3 ปีที่ผ่านมา

นายมนูญบอกว่า ช่วงนั้นรู้สึกอิ่มตัวกับธุรกิจรับเหมา จึงคิดกลับมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด ที่ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอะไรมาก ประกอบกับที่รัฐบาล คสช.ประกาศสนับสนุนแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากลงมือทำ ก็มาจัดสรรพื้นที่ที่มีอยู่ 7 ไร่ แบ่งเป็นปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ที่กินได้ ขายได้ สร้างโรงเรือนเพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่เนื้อไก่ไข่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก ปลานิล และเลี้ยงหนูนา ช่วยกันทำกับพ่อแม่ ไม่ต้องจ้างแรงงาน มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ล้วนเป็นผลผลิต เป็นอาหาร มีรายได้เข้าครัวเรือนเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท

“จากที่เคยจับธุรกิจรับเหมา ความรู้ทางเกษตรแทบไม่มี เพิ่งจะมาได้เรียนรู้กับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่มาให้การอบรมเป็นระยะ ก็ค่อยลองผิดลองถูก กระทั่งเกิดผลผลิต มีกลุ่มลูกค้า มีเครือข่าย และได้รับการยกระดับเป็นศูนย์การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และแหล่งเรียนรู้ระดับจังหวัด มีเกษตรกร องค์กรต่างๆ มาศึกษาดูงานตลอดปี” นายมนุญกล่าว และว่า

นอกจากนี้ สวนเกษตรของตนยังถือเป็นห้องรับแขกของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านนวัตวิถี ของดีบ้านฉันอีกด้วย


นายมนูญกล่าวเพิ่มเติมว่า สวนเกษตรที่ทำอยู่ มาถึง ณ วันนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับชาวบ้านหรือเกษตรกรรุ่นใหม่ ถึงแม้จะมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าที่เคยได้รับคือเดือนละ 5 แสนบาท แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือความสุข ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด และที่ภูมิใจที่สุดคือเป็นต้นแบบของการประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


กำลังโหลดความคิดเห็น