xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือจัดพิธีต้อนรับและขึ้นระวางประจำการ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” สมเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือ จัดพิธีต้อนรับ และขึ้นระวางประจำการ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เรือรบหมายเลข 1 แห่งราชนาวีไทย อย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ ณ ท่าเทียบเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี

วันนี้ (7 ม.ค.) พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีต้อนรับ และขึ้นระวางประจำการ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” หมายเลข 471 เรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำใหม่แห่งราชนาวีไทย ที่เดินทางกลับจากบริษัทต่อเรือประเทศเกาหลีใต้ ณ ปะรำพิธีภายในท่าเทียบเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นของกองทัพเรือ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยราชการ ญาติพี่น้องกำลังพลเรือ และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับด้วยความปลาบปลื้ม

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชานุญาต และวินิจฉัยชื่อเรือหลวงลำใหม่ว่า “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งเป็นเรือฟริเกตสมรรถนะสูง สร้างโดยบริษัท DSME.(DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) ของเกาหลีใต้ ภายหลังได้มีการออกแบบตรงกับความต้องการของกองทัพเรือ ตามแนวทางการจัดหายุทโธปกรณ์หลัก สามารถตอบสนองทุกภารกิจกองทัพเรือมากที่สุด มีการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ

โดยมีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล ทนทะเลได้ถึงสภาวะระดับ 6 ขึ้นไป มีกำลังพลประจำเรือ 136 นาย

สำหรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช มีโครงสร้างเรือที่แข็งแรง จึงมีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบ และการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ สามารถตรวจการครอบคลุมทุกมิติทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากมีการติดตั้งระบบอำนวยการรบ และระบบตรวจการณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ยังสามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้าย และโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย Vertical Launch Anti-Submarine Rocket หรือตอร์ปิโด ส่วนการปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลาง ในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก โจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ

ส่วนด้านการป้องกันตนเองนั้น จะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี ปืนใหญ่เรือ และปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบควบคุมความเสียหายแบบรวมการที่สั่งการได้จากศูนย์กลางหรือแยกสั่งการ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้

โดยศักยภาพและสมรรถนะที่แข็งแกร่งของ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช กองทัพเรือ จึงนำไปใช้ในภารกิจสงคราม ป้องกันอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย รวมถึงการคุ้มกันกระบวนเรือลำเลียง และนอกเหนือจากนั้น ในยามสงบจะดูแลรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล พิทักษ์รักษาสิทธิอธิปไตยทางทะเล ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ







กำลังโหลดความคิดเห็น