xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณ์ไม่จบ! วิวาทะตะขอกับช้าง หลัง“สีดอโฮป”ตกมันกระทืบควาญร่างเละคาปาช้างดังเชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้ใหญ่เหมา- นายเหมา ทรัพย์มาก ผู้ใหญ่บ้านโพนเงิน หมู่ 10 ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ควาญช้างอาวุโสแห่งภาคอีสาน กับบทบาทการแสดงจากการนำช้างเข้าร่วมถ่ายทำภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง
ศูนย์ข่าวภูมิภาค – คนเลี้ยงช้างทั่วไทยพร้อมใจแสดงจุดยืน “ใช้ตะขอและล่ามโซ่เลี้ยงช้าง”เพื่อความปลอดภัย และสวัสดิภาพทีดีของช้าง ขณะที่สัตวแพทย์สาวผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างยืนยันการใช้ตะขอกับช้างเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทุกฝ่าย
จากรุ่นสู่รุ่น กว่า 6 ช่วงชีวิตของคนในตระกูลที่สืบทอดการดูแลช้างส่งต่อกันมา
กรณีเหตุสลดใจ “ช้างสีดอโฮป” คลั่งตกมันฆ่าควาญชาวกะเหรี่ยงเสียชีวิตอย่างทารุณคาคอกปางช้างเอเลแฟนท์เนเจอร์พาร์ค อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปางช้างชื่อดังของนักรณรงค์ให้เลี้ยงช้างโดยไม่ให้มีการใช้ตะขอบังคับ-ห้ามใช้โซ่ล่าม ด้วยความเชื่อว่าเป็นการทรมานช้าง ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างในหมู่ของคนเลี้ยงช้างทั่วประเทศไทยจนถึงขณะนี้

นายสิทธิศักดิ์ ส่องแก้ว หรือควาญเล็ก อายุ 47 ปี ควาญช้างชื่อดังแห่งภาคใต้ จากปางช้างพังงาเอเลแฟนท์พาร์ค เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ด้วยประสบการณ์เป็นควาญช้างมาทั้งชีวิตกว่า 35 ปี เนื่องจากที่บ้านเลี้ยงช้างกันมาถึง 6 ช่วงชีวิตได้คลุกคลีกับช้างมาตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยไม่เคยถูกช้างทำอันตรายเลย เพราะยึดถือในสิ่งที่ปฏิบัติต่อๆ กันมาในการเลี้ยงช้างคือ ใช้ตะขอบังคับช้าง

และได้ผันตัวจากการนำช้างลากจูงซุงในป่ามาทำธุรกิจท่องเที่ยว เปิดปางช้างพังงาเอเลแฟนท์พาร์ค มากว่า 5 ปีแล้ว มีช้างอยู่ 20 เชือก ซึ่งมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวทำแบบต้องใกล้ชิดกับช้างมากๆ ทั้งการป้อนอาหาร อาบน้ำให้ช้าง จึงเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ

“ตนถือคติว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ช้างก็เหมือนกับสมาชิกในครอบครัว เขาเป็นช้างเลี้ยงไม่ใช่ช้างป่า ก็เหมือนเราเลี้ยงสุนัขหรือแมวไว้ที่บ้าน ซึ่งสัตว์ก็เหมือนคนคือมีนิสัยต่างกัน ดีบ้าง ดื้อบ้าง ต้องกำราบกันบ้าง สุนัขดุก็ต้องล่ามโซ่ ใส่ตะกร้อครอบปาก ป้องกันไม่ให้ทำร้ายคนอื่น มีการสั่งสอนให้หลาบจำ ไม่ให้ก้าวร้าวเกเร หรือทำลายข้าวของ ยิ่งช้างเป็นสัตว์สูงใหญ่ มีพละกำลังมาก ต้องควบคุมเป็นพิเศษ”
ควาญเล็ก-นายสิทธิศักดิ์ ส่องแก้ว ควาญช้างชื่อดังแห่งปางช้างพังงาเอเลแฟนท์พาร์ค ให้ความรู้เรื่องช้างไทยกับนักเรียนที่มาทัศนศึกษา
ควาญเล็ก บอกว่า ตอนนี้มีกระแสว่าการใช้ตะขอเป็นการทารุณช้าง ตนเป็นควาญช้าง ก็อยากจะชี้แจงว่าการใช้ตะขอไม่ได้หมายถึงว่าคุณจะต้องทำร้ายเขาเสมอไป เรามีไว้ใช้เพื่อหยุดเขาในบางกรณีที่จะเป็นอันตรายต่อคนหรือต่อเพื่อนช้างด้วยกัน ถ้าเขาหงุดหงิด พอเห็นเราถือตะขอ เขาก็จะเกรง ไม่กล้าที่จะก้าวร้าวหรือทำร้ายช้างหรือคน

ถ้าจะถามว่ามีวิธีอื่นอีกไหมที่จะบังคับช้างโดยไม่ต้องใช้ตะขอได้ นายสุรสิทธิ์ กล่าวว่ามันเป็นวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างที่สืบต่อกันมา ทางภาคใต้จะใช้ตะขอ ส่วนทางเหนือหรืออีสาน มีทั้งใช้มีด หอก ซึ่งแล้วแต่ความถนัดของควาญในแต่ละพื้นที่

และการใช้ตะขอในการบังคับช้างนั้น ก็ใช่ว่าจะไปหาเหล็กมาตีขึ้นรูปเป็นตะขอแล้วจะใช้บังคับช้างได้เลย ควาญช้างจะต้องผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีครู มีอาจารย์ เพราะว่าตั้งแต่โบราณช้างเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ มีการเรียนรู้และสืบต่อศาสตร์ว่าด้วยการเลี้ยงช้างกันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

“ส่วนตัวเองกับช้างที่เลี้ยง ก็ดูแลเขาเหมือนลูก วันหนึ่งๆ ใช้เวลาอยู่กับช้างมากกว่า 16-18 ชั่วโมง เพราะช้างต้องการดูแลเอาใจใส่จากคนเลี้ยง เช่นเดียวกับสุนัขและแมว มีความรักความผูกพันกัน คนที่เคยเลี้ยงสัตว์น่าจะรู้ดีถึงความสัมพันธ์นี้”
ผู้ใหญ่เหมา - นายเหมา ทรัพย์มาก ผู้ใหญ่บ้านโพนเงิน หมู่ 10 ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ควาญช้างอาวุโสแห่งภาคอีสาน ประธานกลุ่มช้างวัฒนธรรม
ขณะที่ควาญช้างระดับตำนานที่ถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการช้างไทยคนหนึ่ง คือนายเหมา ทรัพย์มาก อายุ 58 ปี หรือที่รู้จักกันดีในนามผู้ใหญ่เหมา-ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 บ้านโพนเงิน ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ประธานผู้ก่อต้องกลุ่มช้างวัฒนธรรม ที่ยืนหยัดในการเลี้ยงช้างด้วยวิธีแบบโบราณ ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสโลกสวยหรือกระแสอนุรักษ์ช้าง

ผู้ใหญ่เหมา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเติบโตมากับช้าง เป็นควาญช้างโดยสายเลือด มีเลือดควาญช้างไทยเต็มตัวและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เกิดมาเป็นคนเลี้ยงช้างในครอบครัวคนเลี้ยงช้างที่สืบเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ทั้งทางฝ่ายคุณปู่และฝ่ายคุณตา เรียกได้ว่าเป็นสายเลือดคนเลี้ยงช้างร้อยเปอร์เซ็นต์

ซึ่งการเลี้ยงช้างที่รับความรู้สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ต้องมีทั้งตะขอ มีด และหอก ในการบังคับช้าง ต้องไม่ประมาทเลินเล่อ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีร่างกายสูงใหญ่ สามารถทำอันตรายคนได้อย่างง่ายดาย ควาญช้างที่ดีต้องมีความรู้ ไม่ประมาท ไม่ใช่ว่าไร้ประสบการณ์ แต่โอ้อวดว่าตัวเองเก่ง สามารถควบคุมช้างโดยไม่ต้องใช้ตะขอได้ จนเกิดเหตุสลดใจอย่างที่เป็นข่าวดังออกมา

“ทุกวันนี้มีข่าวช้างทำอันตรายต่อควาญออกมาเรื่อยๆ เพราะขาดการศึกษาอย่างจริงจัง หวั่นไหวไปตามกระแส และที่สำคัญควาญช้างที่ดีต้องมีความสัมพันธ์กับช้างอย่างใกล้ชิด ผูกพันกับช้าง รักช้างอย่างจริงใจ เวลาช้างผิดปกติขึ้นมาก็จะรู้ได้ทันที ว่าช้างหงุดหงิดแล้วนะ เขาไม่ปกติแล้วนะ ใกล้ถึงเวลาที่เขาจะตกมันแล้ว จะต้องคอยสังเกตุตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงชีวิต อย่าไปเชื่อใจว่ารู้จักช้างตัวเองดี หรืออย่าอวดดีว่าเก่ง เพราะเห็นตายไปหลายคนแล้ว”

ส่วนกรณีช้างตกมันจะระวังหรือป้องกันอย่างไร ผู้ใหญ่เหมา บอกว่า เราเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก มีการเตรียมการที่ดี เตรียมสถานที่โล่ง มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ทำหลักสำหรับผูกโซ่เตรียมไว้ โซ่ก็ต้องใช้ขนาดใหญ่กว่าปกติ เพราะช้างตกมันเขาจะมีกำลังมาก มีการสังเกตกว่าช้างตัวไหนจะตกมัน และเริ่มมีอาการก็จะแยกออกมา เพื่อล่ามไว้ในที่ที่จัดเตรียมไว้ ให้อาหารและน้ำตามปกติ

“อาจจะมีการให้ฟักเขียวเป็นพิเศษ เพราะเชื่อกันว่าสามารถทำให้ช้างบรรเทาอาการตกมันลงได เพราะฟักเขียวมีฤทธิ์เย็น และเชื่อกันด้วยว่าจะช่วยให้ช้างหายตกมันได้เร็วขึ้น เพราะฤทธิ์เย็นจากฟักเขียวช่วยระบายให้น้ำมันตกออกมามากและเร็วขึ้นจนหมดเร็วกว่าปกติ”

ผู้ใหญ่เหมา ยังได้กล่าวต่อไปว่าสำหรับการตกมันของช้าง ขึ้นอยู่กับสุขภาพของช้างและสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงเวลานั้น บางครั้งก็ไม่แน่นอนว่าช้างตกมันในช่วงเวลาที่ยาวนานขนาดไหน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าช้างบางเชือกตกมันยาวนานถึงสี่ห้าเดือน และบางครั้งกลับตกมันแค่เดือนเดียวก็มี โดยในปีหนึ่งช้างจะตกมันหนึ่งครั้ง และช้างเชือกใดเคยตกมันในช่วงเดือนไหนก็มักจะตกมันในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเวลาเดิมที่เคยเป็น

และในฐานะที่ตนเป็นประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มช้างวัฒนธรรม ซึ่งกำลังจะจัดงานใหญ่ขึ้นในวันที่ 3 เมษายน 2562 นี้ที่บ้านท่าลาด ม.3 ต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ซึ่งในงานจะมีการเซ่นไหว้บวงสรวงศาลปะกำ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเลี้ยงช้างให้ความนับถือ แล้วยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อยากจะบอกว่าช้างไทยมีความสำคัญคัญ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นช้างนักรบคู่กับบรรพกษัติริย์ไทย แต่ต่อมากลายเป็นช้างเร่ร่อนขอทานในเมืองใหญ่ ซึ่งตนรับไม่ได้จึงรวมกลุ่มช้างวัฒนธรรมขึ้น เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของช้างไทยกลับมา

“ขอยืนกรานในการเลี้ยงช้างตามรูปแบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยว่าต้องมีการใช้ตะขอทั้งเพื่อความปลอดภัยต่อควาญช้างเอง ต่อผู้คนทั่วไปและต่อสวัสดิภาพของช้างเองด้วย”
สัตวแพทย์หญิงภัคนุช บัณสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ปัจจัยทางด้านการจัดการปางช้างที่มีผลต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของช้าง”
ด้านรศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม อาจารย์ประจำภาควิชาคลินิกสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอก และสัตวแพทย์หญิงประจำศูนย์ฯ ได้ระบุถึงความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์เพื่อควบคุมช้างว่า ตะขอและโซ่ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะควบคุมช้างในสถานที่คนกับช้างใช้พื้นที่ร่วมกันและใกล้ชิดกัน

สถานที่ท่องเที่ยว เช่น ปางช้าง ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ป้อนอาหาร อาบน้ำ ขี่หลัง หรือเข้าใกล้ช้าง จึงต้องมีมาตรการควบคุมอันตรายเหล่านี้ ตะขอจึงใช้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวช้างเอง ควาญช้าง และนักท่องเที่ยว ให้มีความปลอดภัยขณะทำกิจกรรมร่วมกับช้าง

อย่างไรก็ตาม การใช้ตะขออย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดบาดแผลได้ ปลายตะขอทำให้เกิดแผลถลอก เป็นรูลึก หรือเป็นฝี สันตะขอทำให้เกิดแผลเปื่อย พุพอง จากการทุบอย่างแรง ช้างที่มีบาดแผลต้องได้รับการทำแผลทุกวัน ให้ยาปฏิชีวนะ และอาจต้องให้ยาลดปวดลดอักเสบด้วย ตะขอจึงควรใช้อย่างเหมาะสมและใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และควาญช้างควรได้รับการฝึกฝนให้ใช้ตะขออย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย

การใช้อุปกรณ์ควบคุมช้าง เช่น ตะขอและโซ่ ยังมีความจำเป็นขณะตรวจร่างกาย ทำหัตถการ และทำการรักษาโดยสัตวแพทย์ ซึ่งสามารถทำให้ช้างปฏิบัติตามคำสั่งได้ สัตวแพทย์ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก และปลอดภัยทั้งต่อตัวช้างและผู้ปฏิบัติงาน

และจากกรณีที่มีช้างตกมันทำร้ายควาญช้างจนเสียชีวิตตามรายงานข่าวนั้น ทราบว่าควาญช้างไม่ได้พกตะขอและช้างไม่ได้ถูกล่ามโซ่ แต่ปล่อยให้เดินอยู่ในคอก และอยู่ในอาการตกมัน ซึ่งช้างตกมันมักจะดุร้ายและจำควาญช้างไม่ได้ จึงอาจเป็นเหตุให้ช้างทำร้ายควาญจนเสียชีวิต โดยควาญช้างไม่สามารถป้องกันตนเองได้

การจัดการช้างตกมันนั้นควรแยกออกจากฝูง ล่ามโซ่ไว้ในที่ห่างจากผู้คน มีอาหาร น้ำ และ ร่มเงาอย่างเพียงพอ ในกรณีที่ให้ช้างตกมันอยู่ในคอก ควรเป็นคอกที่มีความแข็งแรงทนทานต่อพละกำลังของช้าง ควาญช้างไม่ควรเข้าหาช้างตกมันไม่ว่าจะพกหรือไม่พกตะขอก็ตาม เนื่องจากตะขอก็ไม่เพียงพอต่อการควบคุมช้างตกมัน

และเนื่องจากทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพช้างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงและใช้งานช้างในธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของการใช้อุปกรณ์ควบคุมช้าง การขี่ช้าง การโชว์ช้าง การฝึกช้าง และการเลี้ยงดูช้าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มช.โดยสัตวแพทย์หญิงภัคนุช บันสิทธิ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก ที่กำลังจัดทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อ “ปัจจัยทางด้านการจัดการปางช้างที่มีผลต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของช้าง”

โดยทำวิจัยเพื่อศึกษาถึงปัจจัยทางด้านการจัดการปางช้างที่มีผลต่อสวัสดิภาพและสุขภาพของช้าง โดยได้สำรวจการจัดการปางช้างในภาคเหนือและประเมินสภาวะทางสุขภาพและสวัสดิภาพของช้าง วัดจากคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย สุขภาพเท้าและเล็บ บาดแผลที่ผิวหนัง พฤติกรรมผิดปกติ และฮอร์โมนความเครียด รวมทั้งหาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางด้านการจัดการ เช่น ชั่วโมงการทำงาน ระยะทางการเดิน ปริมาณอาหาร สถานที่พักอาศัย ชั่วโมงการล่ามโซ่ การใช้ตะขอ เป็นต้น ที่ส่งผลต่อตัวชี้วัดต่าง ๆ ซึ่งผลการวิจัยจะเป็นข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นแนวทางปฏิบัติและช่วยปรับปรุงมาตรฐานปางช้างให้ดีขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันในแวดวงการท่องเที่ยวช้างไทย มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันเป็นวงกว้างว่าตะขอยังมีความจำเป็นต่อการเลี้ยงช้างอยู่หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังยืนหยัดยืนยันว่ายังมีความจำเป็นอยู่ แต่อีกฝ่ายซึ่งเป็นส่วนน้อยก็แสดงเหตุผลในเรื่องของการทำธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น