ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ พร้อมรับนักท่องเที่ยวท้าลมหนาวชมพรรณไม้ดอก พืชผัก และผลไม้เมืองหนาวเบ่งบาน โดยเฉพาะใบเมเปิลที่กำลังเปลี่ยนสีแดงสดกลางขุนเขา
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ช่วงนี้ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ หรือโครงการหลวงอินทนนท์ บ้านขุนกลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างคึกคัก จากการที่ที่บรรดานักท่องเที่ยวต่างพากันเข้าเที่ยวชมความสวยงามของพรรณไม้ที่สวน 80 พรรษา สวนเฉลิมพระเกียรติที่สร้างขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยไม้ดอกไม้ประดับตามฤดูกาล เช่น กุหลาบหิน เทียนฝรั่ง เยอร์บีรา ด้านหน้ามีบ่อน้ำเพิ่มความสดชื่นในบรรยากาศร่มรื่น เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีหงส์ขาวและหงส์ดำชูคอลอยเหนือผิวน้ำทักทายนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้แล้ว ในพื้นที่ยังสามารถเข้าเที่ยวชม และศึกษา แหล่งวิจัย รวบรวมพันธุ์พืช และผลิตไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวนานาชนิด อีกทั้งยังมีพืชผักสมุนไพร และไม้ผลขนาดเล็ก และเยี่ยมชมกิจการของโครงการหลวงที่ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรของชาวบ้านบนพื้นที่สูงได้สร้างรายได้ และในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่องทำให้ต้นเมเปิล ที่ทางโครงการหลวงได้ปลูกไว้บริเวณบ้านพักด้านหน้าลานจอดรถของร้านอาหารโครงการหลวง ที่ขณะนี้ใบเมเปิลได้เปลี่ยนสีเป็นสีแดงสด ตัดกับสีของท้องฟ้าสีคราม สวยงามที่สุดช่วงหนึ่งของปี ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวพากันไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างคึกคัก ส่วนต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือดอกซากุระเมืองไทย ในพื้นที่โครงการหลวงอินทนนท์ แม้จะยังไม่ออกดอกแต่คาดว่าจะเริ่มออกดอกโชว์ความสวยงามในช่วงของปลายเดือนมกราคมนี้
สำหรับสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทย มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาเหล่านั้นให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ด้วยการหันมาทำการเกษตรแบบถาวร อันเป็นที่มาของการจัดตั้ง “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ. 2522 ณ บริเวณบ้านขุนกลาง เพื่อเป็นสถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงอีกแห่งหนึ่ง ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผล รวมทั้งถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่การส่งเสริมให้เป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกรทั้งชาวกะเหรี่ยง และ ม้งในหมู่บ้านรอบๆ สถานีฯ พร้อมกับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานพัฒนาด้านสังคมและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและโปรดให้เป็น “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี พ.ศ. 2550