xs
xsm
sm
md
lg

จีนขยับเดินหน้าอีไอเอน้ำโขงรอบใหม่ พุ่งเป้าบึ้มแก่งหิน-ขุดร่องน้ำ 13 จุดติดแดนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - บริษัทที่ปรึกษาตัวแทนทุนจีนขยับเดินหน้าทำอีไอเอน้ำโขงรอบใหม่ นัดคนเชียงราย 3 อำเภอร่วมเวทีรับฟังความเห็นต้นมกราฯ 62 เผยจำลองแผนแล้ว จ่อบึ้มเกาะแก่ง-ขุดลอกร่องน้ำ-ติดป้าย ฯลฯ 13 จุดติดแดนไทย เปิดทางเดินเรือ 500 ตันได้ฉลุย

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนของบริษัท cccc Second Harbor Consultants จำกัด เอกชนจีน เริ่มเดินหน้าการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 62 หลังเลื่อนการจัดเวทีช่วงปลายปีนี้มาแล้ว

โดยมีกำหนดจะเปิดเวทีในพื้นที่ อ.เวียงแก่น ในวันที่ 3 ม.ค. 62 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น, วันที่ 4 ม.ค.ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาล ต.เวียง อ.เชียงของ และวันที่ 5 ม.ค.ที่หอประชุมสามเหลี่ยมทองคำ เทศบาลตำบลเวียง อ.เชียงแสน

บริษัทฯ ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ระบุว่า จะมีการแจ้งผลการสำรวจด้านวิศวกรรมและชลศาสตร์, การตรวจสอบทางธรณีวิทยาลำน้ำโขง แนวเขตระหว่างไทย-สปป.ลาว ที่ติดกับทั้ง 3 อำเภอ ระยะทาง 96 กิโลเมตร ที่ทีมสำรวจของจีนดำเนินการไปเมื่อช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

ซึ่งเมื่อนำไปศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และกายภาพแล้ว สามารถสรุปแนวทางการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อให้เรือสินค้าขนาด 500 ตัน เรือขนตู้สินค้าขนาด 30 ทีอียู เรือขนส่งน้ำมันขนาด 500 ตัน และเรือโดยสารขนาด 150 ที่นั่งสามารถสัญจรผ่านได้ด้วยการใช้แนวทางด้านวิศกรรม เช่น เสริมความมั่นคงบริเวณพื้นท้องน้ำ ขุดลอก ระเบิดหินใต้น้ำ ป้องกันตลิ่ง รวมทั้งย้ายสิ่งกีดขวางที่อยู่ภายในร่องน้ำ การติดป้าย และสัญลักษณ์ต่างๆ ช่วยในการเดินเรือ สร้างที่จอดเรือทอดสมอเพิ่มเติม ฯลฯ

เฉพาะพื้นที่ที่ผ่านประเทศไทยมีจุดที่ควรปรับปรุง 13 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ ต.เวียง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ต.ริมโขง ต.เวียง ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ ต.หล่ายงาว ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการศึกษาถึงระดับน้ำ-ความเร็วของกระแสน้ำแล้วพบว่าหากมีการปรับปรุงร่องน้ำบริเวณแก่งคอนผีหลง อ.เชียงของ จะทำให้ระดับน้ำลดลงประมาณ 1 ซม.เพราะจะมีการขุดลอกพื้นท้องน้ำ ส่วนความเร็วของกระแสน้ำบริเวณเดียวกันก็จะลดลงประมาณ 0.05 เมตรต่อวินาที โดยมีผลเฉพาะจุดที่ปรับปรุงร่องน้ำดังกล่าวเท่านั้น

เอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่าได้มีการศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไข แต่ผลการศึกษานี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย จีน สปป.ลาว และพม่า ก่อนจึงจะสามารถนำมาปฏิบัติได้

ดังนั้น ขั้นตอนนี้จึงเป็นการจัดประชุมเพื่อศึกษาแนวทางปรับปรุง ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นโดยผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็น และร่างมาตรการป้องกัน-แก้ไขผลกระทบ รวมถึงร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบในโครงการดังกล่าวด้วย

สำหรับโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ ดังกล่าวเกิดจากการผลักดันของทางการจีน โดยอาศัยข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 4 ชาติ คือ ไทย จีน สปป.ลาว และพม่า เมื่อปี 2543 ซึ่งมีการกำหนดความร่วมมือเดินเรือระหว่างเมืองท่า 14 แห่ง ได้แก่ ซือเหมา จิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เมืองหัง กวนเหล่ย ประเทศจีน บ้านจิง บ้านโป่ง ประเทศพม่า ปางทราย ปางเซียงก่อ เมืองมอม บ้านป่าลุน ห้วยทราย และหลวงพระบาง สปป.ลาว และท่าเรือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ ประเทศไทย รวมระยะทางตั้งแต่ซือเหมา-หลวงพระบาง ประมาณ 890 กิโลเมตร และมีคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงฯ หรือ The joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang–Mekong River among China, Laos Myanmar and Thailand (JCCCN) เป็นหน่วยงานประสานงาน

ต่อมาประเทศจีนได้ดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ โดยมีบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด ของจีนรับสัมปทานปรับปรุง ดำเนินการระเบิดเกาะแก่ง ติดป้ายสัญญาณในแม่น้ำโขง ขุดลอก ฯลฯ ตั้งแต่ชายแดนจีน-พม่า ตรงหลักกิโลเมตรที่ 243 ผ่านพม่า-สปป.ลาว และเว้นช่วงที่ติดกับประเทศไทยระยะทาง 96 กิโลเมตร เนื่องจากถูกต่อต้านจากภาคประชาชน แต่ สป.จีนยังคงดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำตั้งแต่แขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมระยะทางประมาณ 631 กิโลเมตร เพื่อให้เรือเดินสินค้าสามารถแล่นไปมาได้สะดวกตลอดทั้งปี
กำลังโหลดความคิดเห็น