xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมผู้บริหาร ร.ร.มัธยมฯ ชี้การศึกษาไทยวิกฤต วอนรัฐปฏิรูปโดยด่วน โครงสร้างผิด กระทบสร้างคนในชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นครปฐม - นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะวอนภาครัฐปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษา หลังวางแนวผิดหลังปรับโครงสร้าง เผยไทยไร้การวางแผนสร้างคนในอนาคต 10 ปี ยัดเยียดให้เด็กเรียนมากแต่รู้น้อย ให้ผู้ไม่รู้จริงมาจัดระบบให้ ส่งผลกระทบที่ตัวเด็กโดยตรงผลถึงทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคต

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเผยถึงวิกฤตด้านการศึกษา โดยเฉพาะในส่วนของการวางแนวทางในการศึกษา และระบบการบริหารงานในสังกัด หลังประชุมกับผู้บริหารทั่วประเทศ โดยได้ผลสรุปว่า ปัจจุบันสถานการณ์กำลังตกต่ำลง วอนผู้บริหารระดับสูงปรับแก้โดยด่วนเพราะเดินผิดทางมาไกลเกินแล้ว หวั่นผลกระทบปลายทางคือเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารและตัวแทนผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 120 คน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาการศึกษาไทย โดยมีความน่าเป็นห่วงในหลายด้าน ทำให้เป้าหมายหลักคือ คุณภาพผู้เรียนด้านต่างๆ ไม่เป็นไปตามคามคาดหวัง และเป็นสาเหตุของความตกต่ำทางการศึกษาทั้งนี้ เกิดจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่านมา ได้ให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการศึกษาที่แท้จริง

นายรัชชัยย์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการศึกษาในระดับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนนี้เราไม่มีแผนในการผลิตบุคลากรให้ตรงกับการพัฒนาประเทศ เป็นแผน 10 ปีล่วงหน้า ไม่มีการเตรียมคนกับความต้องการ นักเรียนต้องเรียนหนักในทุกสาขาวิชา ซึ่งเกินความจำเป็น เช่น เรายังให้นักเรียนเรียนเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ โดยเน้นไปที่การเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ แทนที่จะมุ่งเน้นไปศึกษาวิชาเคมี หรือชีวะ หรือแม้แต่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องใช้วิชาคณิตศาสตร์ แต่ก็มีการสอบเข้าด้วยการเน้นวิชาคณิตศาสตร์ เข้าไปด้วย ซึ่งไม่ได้แยกออกว่าวิชาไหนคือวิชาพื้นฐาน หรือวิชาไหนควรจะมุ่งเน้น

ซึ่งการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย วันนี้เราจัดระบบการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของมหาวิทยาลัยด้วยวิชาการมากเกินไป แต่ขาดการส่งเสริมด้านวิถีมนุษย์ ด้านคุณธรรมจริยธรรม เราเรียนเพื่อ O-NET ไม่ได้ให้มีการศึกษาเพื่อโลกกว้างในอนาคตสำหรับเยาวชน ซึ่งการบริหารในปัจจุบันไม่ได้มีการนำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะด้านมาบริหารจัดการและส่งผลมาโดยตรงถึงเด็กและเยาวชน

นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ กล่าวอีกว่า ยิ่งหากมองย้อนกลับไปถึงเรื่อง AEC ที่จะมีการเชื่อมต่อกันในหลายๆ มิติ แต่ปัจจุบันนั้นได้เงียบหายไป ซึ่งความสามารถเฉพาะตัวของเด็กไทยตอนนี้ยังไม่เท่าเทียมกับเด็กในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย นอกจากด้านภาษาแล้ว ยังมีเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรม เด็กไทยถูกทอดทิ้งในเรื่องนี้ เพราะเราฝึกให้มีแต่การแข่งขัน แย่งชิง แตกต่างจากประเทศเหล่านี้ที่มีการพัฒนาทางการศึกษาที่ใช้ได้จริง อีกเรื่องคือการไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องและหลงไปกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้จะไม่มีข่าวเสียหายของเด็กและเยาวชนในเรื่องเหล่านี้เลย เพราะเขามีภูมิที่แกร่ง

นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาที่พ่วงถึงกันเหล่านี้ นั่นคือ การที่มีการวางแนวทางการบริหารที่ผิดแนวทาง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปใหม่ เพราะปัจจุบันเราส่งเสริมให้เด็กเรียนเยอะแต่รู้น้อย ซึ่งในความเป็นจริงต้องเรียนน้อยแต่รู้เยอะ ทุกวันนี้เรียนมากแต่ไม่ได้นำไปใช้ บางวิชาเด็กไม่ชอบแต่ถูกบังคับให้เรียน และการศึกษาคือจิตวิญญาณ ไม่ใช่เรื่องของการทำให้กำไรหรือขาดทุน และไม่ใช่ให้เอกชนมาวางระบบทางการศึกษา แต่เอกชนควรจะเป็นผู้สนับสนุนด้านการศึกษา

“เรื่องสำคัญที่เห็นเป็นปัญหาตอนนี้คือ เรื่องการเรียนพิเศษ วันนี้เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมการเรียนพิเศษจะลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเราต้องเปลี่ยนที่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอนนี้เราแข่งขันเพื่อจะเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกก่อน ผู้ชนะจะมีโอกาสเลือกได้มากกว่า ซึ่งเราคิดแบบนั้นไม่ได้ อย่างประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นต้นแบบการศึกษาที่ทั่วโลกยกย่อง ไม่มีการสอบแข่งขัน แต่ใช่การสุ่มเลือก หรือแรนดอม เพื่อหาคนเข้าเรียนในสาขาวิชาต่างๆ นั่นเพราะเขาวางระบบมาพร้อมแล้ว คนในประเทศมีความพร้อมโดยไม่ต้องแข่งขันกันแล้ว” นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ กล่าว

นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการจัดระบบการศึกษา วันนี้น่าเสียใจที่รัฐบาลได้จัดการให้บุคคลที่ไม่ใช่ครูเข้ามาบริหารจัดการทางด้านการศึกษา ไม่มีคณะครู หรือผู้แทนครูอยู่ในบอร์ดของระบบการศึกษา ใช้การจินตนาการเข้ามาวางแผนจัดการว่าควรจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่การศึกษาไม่สามารถมาทดลองผิดถูกได้ รัฐต้องใจกว้าง ให้ครูเข้ามาทำหน้าที่ไม่ใช่ให้นักวิชาการที่คาดคะเนมาจัดการ

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับวันนี้ ประเทศของเรากำลังเสียผลประโยชน์ เพราะกำลังเดินถอยหลังไม่ได้สร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพและไม่มีการพัฒนาอย่างถูกต้อง เราเคยพยายามเข้าไปหารือกับหน่วยงานในระดับกระทรวงแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง สิ่งที่อยากวิงวอนคือ การอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดใจมาพูดคุยกับครูที่แท้จริง เราขอเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมงเพื่อให้ท่านได้นำไปปรับคิด ไม่ใช่เจอกันแค่ 5 นาที ท่านจะรู้ว่าอะไรควรหยุดหรือควรทำ และวันนี้ เราไม่มาด้วยเรื่องการเมือง ซึ่งหากมีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมีรัฐบาลที่ชัดเจนเราจะรวมพลังของสมาชิกฯ เข้าพบกับผู้นำรัฐบาลเพื่อหารือเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเราหลงทางมาไกลเกินไปแล้ว” นายกสมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ กล่าวปิดท้าย

ด้าน นายจิรพร สมบูรณ์วงศ์ เลขาธิการสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้สมาคมฯ ได้มีการวางแนวทางและกรอบต่างๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาและแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาไว้ประมาณ 18 ข้อ ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากโรงเรียนในระดับมัธยมทั่วประเทศ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไปจนถึงการจัดการในระดับโรงเรียน รวมถึงทั้งตัวครูผู้สอน และนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา

“ที่ผ่านมา เราไม่มีการปรับกระบวนการที่ผิดระบบการศึกษา และประสบการณ์ของสมาชิกในสมาคมคือผู้คร่ำหวอดในการศึกษามา 30-40 ปี เจอปัญหาที่แท้จริงระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน ครูกับระบบการบริการจัดการ นักเรียนกับการวางแนวทางการศึกษาทั้งในห้องเรียน และสานต่อไปยังระดับมัธยม ไม่เว้นแม้กระทั่งมีการถอดตำแหน่งภารโรงออก ครูต้องมาทำหน้าที่ในการทำธุรการ การต้องมาทำ PLC และ LOG BOOK ส่วนเหล่านี้ได้ผลในการทำให้เห็นภาพเพื่อพัฒนาวิทยฐานะ แต่บั่นทอนการทุ่มเทในการใช้เวลาในการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน ซึ่งอยากจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเปิดใจหารือกับครูที่เป็นครูที่แท้จริง” เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวปิดท้าย




กำลังโหลดความคิดเห็น