ศรีษะเกษ - พช.เมืองดอกลำดวนประกาศให้ 85 หมู่บ้าน ใน 22 อำเภอ เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ขายความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเรียนรู้ทั้งวัฒนธรรมประเพณีและอาหารพื้นบ้าน มั่นใจนักท่องเที่ยวจะประทับใจและปลอดภัย
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาชุมชน (พช.) จังหวัดศรีสะเกษได้จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจรเยี่ยมชมโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี (Press Tour)” โดยมีสื่อมวลชนทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลโครงการฯช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีจังหวัดศรีสะเกษ เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชน และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง
นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จังหวัดศรีสะเกษมีจำนวน 85 หมู่บ้าน ใน 22 อำเภอ ที่เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยได้กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี ไว้ 7 เส้นทางประกอบด้วย เส้นทางอารยธรรมขอม, เส้นทางวิถีชีวิตชนเผ่า, เส้นทางผลไม้ดินภูเขาไฟ, เส้นทางสายไหม, เส้นทางวิถีเกษตรปลอดภัย, เส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และ เส้นทางตามรอยศรัทธาพระพุทธศาสนา ซึ่งตอนนี้เราก็ยังอยู่ในช่วงของการดำเนินการ เตรียมความพร้อมของชุมชน
“แม้จะยังไม่เรียบร้อยมากนัก แต่ก็ถือว่ามีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว ในอนาคตเราก็อยากจะเชิญชวน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของการท่องเที่ยวให้เข้ามาดำเนินการต่อ” นายจรินทร์กล่าวและว่า
โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวนวัตวิถีดังกล่าว พี่น้องประชาชนในชุมชนเองก็มีกลไกในการขับเคลื่อนที่ต้องการให้เกิดความยั่งยืน ทางรัฐบาลเองก็ต้องการให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในเรื่องของเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะเป้าหมายสูงสุด คือ อยากให้ทุกคนเป็นคนที่มีความสุข เป็นคนที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบชุมชน หมู่บ้านตำบลประเทศร่วมกันต่อไป
นายจรินทร์กล่าวอีกว่า เรื่องของจุดเช็กอิน และแลนด์มาร์กที่ชุมชนสร้างขึ้นกันเองนั้น โดยได้ดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาแลนด์มาร์กใหม่ในพื้นที่ อย่างเช่น เรื่องของความสะอาด ความเป็นเจ้าบ้านที่ดี การให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว เพียงแต่ให้ดึงเอาเสน่ห์ที่มีอยู่ อย่างเช่น เรื่องของอาหารพื้นถิ่น และเรื่องศิลปวัฒนธรรม เช่นการละเล่นและการแสดงพื้นถิ่น ให้นักท่องเที่ยวได้ชม บางท่านอาจจะยังไม่เคยเห็นการแสดงของชุมชน
“ทางชุมชนมีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ ในส่วนของเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของแขกที่มาเที่ยวและพักค้างในหมู่บ้าน ทางจังหวัดศรีสะเกษเราถือว่ามีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาตรงนี้ในทุกๆ ด้าน” นายจรินทร์กล่าว
ส่วนเรื่องการขับเคลื่อนโครงการฯในอนาคตนั้น นายจรินทร์กล่าวว่า จังหวัดเองจะต้องบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ดึงคนเข้ามาให้ต่อเนื่อง ในส่วนของพัฒนาชุมชนเองนั้นถือว่าเราเป็นคนเริ่มจุดประกายที่จะให้ชุมชนมีความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยว นำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำเอาสิ่งที่ชุมชนมีออกมา นำเสนอทั้งในเรื่องของการพัฒนาสินค้า OTOP ที่มีอยู่ในชุมชน ต้องสามารถชูเป็นของฝากของที่ระลึกให้ได้ โดยเฉพาะความเป็นอัตลักษณ์ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น อาหารพื้นถิ่น วัฒนธรรมพื้นถิ่น การแสดง การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เคยเห็นการแสดง ของชุมชนแบบนี้มาก่อน
นายจรินทร์พูดถึงมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยี่ยมชม ชุมชนโอทอปนวัตวิถี จ.ศรีสะเกษ ว่าเรามีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่พักรูปแบบโฮมสเตย์ เรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่มา ทางจังหวัดศรีสะเกษมีความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นทางกำลังทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่พร้อมที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอำเภอแต่ละอำเภอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะเข้ามาดูแลและ ขับขับเคลื่อนต่อเพื่อให้ชุมชน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรักสมัครสมานสามัคคีกัน
สำหรับชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นโครงการภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ที่รัฐบาลต้องการที่จะสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้แนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ในเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่ม การใช้นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ในการทำให้ชุมชนมีรายได้ ให้คนในชุมชน มาค้นหาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตัวเอง และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น วัฒนธรรม ประเพณีที่โดดเด่น เช่นเรื่องความพร้อมของชุมชน ในการที่มีศาสนสถาน หรือมีวัตถุโบราณที่จะมาใช้ในการขับเคลื่อน เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยนำเสน่ห์ชุมชนอย่างเช่นอาหารพื้นถิ่น การแสดงและการละเล่นพื้นถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ สินค้าโอทอปอันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านและชุมชนอย่างน้อยหมู่บ้านละ 10 ชนิดมาสร้างเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในชุมชน เอามาเป็นจุดขายในการที่จะให้คนเข้ามาเที่ยวในชุมชนของตนเอง เป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เกิดความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนต่อไป