นครพนม - สคบ.ลงพื้นที่นครพนม นำเครื่องเอกซเรย์สุ่มตรวจ 14 ร้านทอง พบทองคำได้มาตรฐาน สคบ. ผ่านมาตรฐานทองคำ 96.5% มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคซื้อทองคำใน จ.นครพนม และประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (29 พ.ย. 61) ที่ศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังใหม่ พลตำรวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก แถลงข่าวการลงพื้นที่ตรวจติดตามการเฝ้าระวังสินค้าอันตรายและตรวจสอบฉลากสินค้าทองรูปพรรณจังหวัดนครพนม พร้อมกับนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
นางวิไลวรรณ ไกรโสดา เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดที่มีการค้าระหว่างชายแดน มีการจำหน่ายทองรูปพรรณข้ามฝั่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีความเป็นห่วงผู้บริโภคว่าอาจจะนำเอาทองที่ไม่ได้มาตรฐาน มีเปอร์เซ็นต์ทองต่ำกว่ามาตรฐานมาจำหน่ายให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครพนมลงพื้นที่ตรวจสอบและสุ่มตัวอย่างจากร้านค้าผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนมตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสุ่มตัวอย่างจากร้านค้าทองต่างๆ มาใช้เครื่องเอกซเรย์ที่ทางสมาคมค้าทองให้การสนับสนุน มาสแกนตรวจสอบปริมาตรและส่วนผสมต่างๆ
เพื่อสร้างมาตรฐานและความมั่นใจให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจังหวัดนครพนม ว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาด โดยเฉพาะทองรูปพรรณในจังหวัดนครพนมเป็นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานของรัฐได้มีการกำหนดไว้ รวมถึงมีการลงพื้นที่ตรวจสินค้าอันตรายที่ห้ามจำหน่ายเด็ดขาดในพื้นที่ตลาดอินโดจีนของจังหวัดนครพนมด้วย
ด้านนายฐิตินันท์ สิงหา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก เปิดเผยว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่างทองรูปพรรณ จำนวน 970 ชิ้นของผู้ประกอบการ 14 แห่งที่เปิดจำหน่ายในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม ปรากฏว่าทุกร้านมีการจัดทำฉลากถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก และจากการสุ่มตัวอย่างทองรูปพรรณ จำนวน 28 ชิ้น มาตรวจสอบด้วยเครื่องเอกซเรย์ ก็พบว่าทุกชิ้นเป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตได้ทำการตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคส่วนกลางทั้งหมด
มีเปอร์เซ็นต์ทองรูปพรรณไม่น้อยกว่า 96.5 เปอร์เซ็นต์ จึงขอยืนยันกับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะซื้อหาทองรูปพรรณในพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้มั่นใจได้ว่าร้านทองทั้ง 14 แห่งมีมาตรฐาน คุณภาพอย่างแน่นอน ส่วนการตรวจสอบสินค้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคห้ามขาย ซึ่งเป็นสินค้าอันตรายห้ามจำหน่ายเด็ดขาด ก็ไม่ปรากฏว่ามีสินค้าต้องห้ามดังกล่าวในพื้นที่เช่นเดียวกัน