xs
xsm
sm
md
lg

คนเชียงรายแห่ให้กำลังใจ “ผู้ว่าฯ ฮีโร่ถ้ำหลวง” ฟ้อง นสพ.คดีตุงเทศบาลฯ 60 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชียงราย - ชาวบ้านแห่ให้กำลังใจ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์-ผู้ว่าฯ ฮีโร่ถ้ำหลวง” ขึ้นศาลเป็นพยานคดีฟ้อง นสพ.ท้องถิ่น หมิ่นประมาทกรณีตีกลับโครงการสร้างตุงโลหะเขตเทศบาลฯ เชียงราย 60 ล้าน

วันนี้ (29 พ.ย.) ผู้พิพากษาได้นัดสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดี 7 ศาลจังหวัดเชียงราย กรณีพนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย เป็นโจทก์ฟ้อง นสพ.เชียงรัฐ ในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ในเหตุการณ์ทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คนติดอยู่ในถ้ำหลวง ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา เป็นพยานคนสำคัญ

ซึ่งในการนัดสืบพยานทางโจทก์และจำเลยได้พยายามไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดียุติ และฝ่ายผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรม จึงได้ตกลงกันให้ลงข้อความขอโทษในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจำนวน 2 ปักษ์ หรือ 2 ฉบับ ภายในระยะเวลา 1 เดือน และลงข้อความในหนังสือพิมพ์ส่วนกลางอีก 1 ครั้ง โดยจะมีการนัดพบกันอีกครั้งในเดือน ม.ค. 2562

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่มีการนัดสืบพยานในศาลนั้นได้มีประชาชนชาวเชียงราย ประมาณ 30 คน ได้นำดอกไม้ไปมอบให้กำลังใจต่อนายณรงค์ศักดิ์ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น

นายสำเนียง พรมใจสา เลขานุการสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ประจำ จ.เชียงราย หนึ่งในกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า ตอนที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ทำหน้าที่อยู่ที่เชียงรายก็เป็นคนติดดินไม่ถือเนื้อถือตัว เมื่อผู้สูงอายุเชิญให้ไปร่วมกิจกรรมก็ไปร่วมทุกครั้ง รวมทั้งให้การสนับสนุนกิจกรรม ดังนั้นเมื่อทราบว่านายณรงค์ศักดิ์มาเชียงรายเรื่องคดีความจึงมาให้กำลังใจ

ด้านนายณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า คดีดังกล่าวมีที่มาจากการดำเนินโครงการสร้างตุงโลหะขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ที่ใช้งบประมาณราว 60 ล้านบาท แต่พบพิรุธในโครงการหลายอย่าง จังหวัดฯ จึงให้กลับไปพิจารณาใหม่ แต่ปรากฏว่ามีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อดังกล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรง เช่น จังหวัดตอแหล ยกเลิกสร้างตุง ฯลฯ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องเลย

นายณรงค์ศักดิ์กล่าวด้วยว่า สาเหตุเพราะโครงการนี้มีข้อน่าสงสัยหลายประการ คือมีมูลค่า 60 ล้านบาท แต่กลับแบ่งของบประมาณสนับสนุน 50 ล้านบาท และจะใช้ของท้องถิ่นแทน 10 ล้านบาท ทำให้สามารถอยู่ในกรอบที่สามารถใช้การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการพิเศษได้ และโครงการยังเคยแจ้งว่าจะดำเนินเฉพาะตัวตุงด้วยกิจกรรม 9 กิจกรรม แต่ต่อมาปรับลดเหลือเพียง 7 กิจกรรม แต่กลับเสนอขอใช้งบประมาณเท่าเดิม

นอกจากนี้ กรณีทีโออาร์โครงการก็ไม่มีรายละเอียดที่จะให้หลักประกันได้ว่าจะสร้างเสร็จได้เมื่อไหร่ ทางจังหวัดฯ ในขณะนั้นจึงให้ทางอำเภอเมืองเชียงราย ที่เสนอเรื่องขึ้นไปนำเรื่องกลับไปพิจารณาใหม่ และไม่ได้เป็นไปตามที่สื่อดังกล่าวระบุถึงแต่อย่างใด

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุที่ตนดำเนินการจนมีการฟ้องร้องเนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อข้าราชการทุกคนในจังหวัดเพราะมีการพาดพิงถึงทั้งจังหวัด จึงได้แจ้งความต่อหนังสือพิมพ์ดังกล่าวในนามผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และในนามจังหวัด ต่อมาอัยการจังหวัดพิจารณาแล้วสมควรส่งฟ้อง ทำให้พนักงานอัยการจังหวัดเป็นโจทก์ และตนก็อยู่ในฐานะพยาน

“ผมก็ไม่อยากติดใจเอาความใดๆ เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเขาก็ทำตามหน้าที่ เราต่างคนต่างทำหน้าที่ แต่เมื่อสอบถามแล้วสื่อที่นำเสนอเขาบอกว่ามีความคลาดเคลื่อน ซึ่งผมก็เห็นว่าระยะเวลาผ่านมาร่วม 1 ปีแล้วจะคลาดเคลื่อนได้อย่างไร ท้ายที่สุดก็มีการตกลงกันที่ศาลภายใต้เงื่อนไขคือ จำเลยต้องรับสารภาพผิด และลงขอโทษตามที่ตกลงกันเอาไว้ดังกล่าว ซึ่งผมถือว่าต่อไปข้าราชการต้องมีศักดิ์ศรีและทำในสิ่งที่ถูกต้องต่อไป” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ คดีฟ้องร้องดังกล่าวถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อมีการประชุมหัวหน้าส่วนราชการใน จ.เชียงราย เมื่อ 30 ส.ค. 2560 และทางจังหวัดหยิบยกโครงการดังกล่าว ซึ่งจะสร้างด้วยโลหะบรอนซ์สูง 15 เมตร โดยมีการขอใช้งบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 2 ซึ่งนายณรงค์ศักดิ์ (ผู้ว่าฯ เชียงรายในขณะนั้น) ได้แจ้งถึงข้อสงสัยในโครงการ และแจ้งเหตุผลที่ไม่อนุมัติ โดยอ้างถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุปี 2535 ข้อ 22 วรรค 2 ที่ระบุว่า "การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้" กระทั่งเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น