xs
xsm
sm
md
lg

ราชบุรีเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หลังมีการคาดการณ์ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ราชบุรี - ราชบุรี เฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หลังมีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ราชบุรี ซึ่งอยู่ติดชายแดนมีความเสี่ยงสูง พร้อมเตรียมจำลองสถานการณ์ระบาดของโรค เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถป้องกันควบคุมโรค และตอบโต้ภาวการณ์ระบาดของโรคดังกล่าวได้

วันนี้ (27 พ.ย.) นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ ปลัดจังหวัดราชบุรี เป็นประธานประชุมเตรียมจัดโครงการฝึกการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ห้องประชุมหลวงยกระบัตรชั้น 3 ศาลากลางจังหวัด โดยมีสัตวแพทย์หญิงวรรณี วัฒนพงษ์ชาติ ปศุสัตว์จังหวัด นายเดชา เรืองอ่อน รักษาการหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 137 เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยจังหวัดกำหนดให้เตรียมจัดทำโครงการฝึกการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแบบการฝึกเชิงปฏิบัติการ รูปแบบฝึกเฉพาะเจ้าหน้าที่ เพื่อให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น หน่วยงานด้านปศุสัตว์ สัตวแพทย์ ผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว สามารถป้องกันควบคุมโรคและตอบโต้สภาวะการระบาดของโรคดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกำหนดเปิดโครงการดังกล่าวในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ที่โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมือง เตรียมการฝึกจำลองสถานการณ์ตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ฟาร์มแห่งหนึ่งใน ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึก ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันตก กลุ่มผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสุกร ผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร และผู้ประกอบการค้าเนื้อสุกร

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการพูดถึงมีจำนวนการเลี้ยงสุกรในจังหวัดราชบุรีที่มีมากที่สุดในประเทศ และยังมีแนวโน้มสุ่มเสี่ยงสูงมากที่เข้ามาระบาดในพื้นที่ราชบุรี เนื่องจากมีพื้นที่เขตติดต่อกับแนวชายแดนไทย จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ รวมถึงระยะทางถึงชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ระยะทางถึงโรงฆ่าสัตว์ และความหนาแน่นของโรงฆ่าสัตว์ ปริมาณการเคลื่อนย้ายสุกร ปริมาณสุกรรายย่อยและมีการเลี้ยงด้วยเศษอาหาร

หากเกิดโรคในฟาร์มสุกร ทางปศุสัตว์จังหวัดจะนำเรื่องเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้ใช้อำนาจตามมาตรา 21 ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่รัศมีอย่างน้อย 5 กิโลเมตร พร้อมมีการจดบันทึกสั่งกักสัตว์และซากสัตว์ทุกฟาร์มรัศมีไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ทำลายสัตว์และซากสัตว์ทั้งฟาร์ม ทำลายเชื้อโรคที่ฟาร์ม และกำจัดสัตว์พาหะ

พร้อมทั้งเข้มงวดการแพร่กระจายเชื้อออกนอกฟาร์มทุกแห่ง รัศมีไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร อีกทั้งจะต้องสอบสวนโรคเชิงลึก รวมทั้งพักคอกอย่างน้อย 12 สัปดาห์ และดำเนินการตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีมาตรการรอบฟาร์มรัศมีไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร เช่น ห้ามเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรโดยเด็ดขาดเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และห้ามออกนอกเขตอีก 6 สัปดาห์ เป็นต้น

สัตวแพทย์หญิงวรรณี วัฒนพงศ์ชาติ ปศุสัตว์จังหวัด เปิดเผยข้อมูลว่า ทางราชบุรีได้มีการเฝ้าระวังโรคดังกล่าว โดยมีการเก็บผลเลือดตัวอย่างสุกรในเรือนจำส่งตรวจแล้วผลออกมาไม่เป็นโรค ส่วนฟาร์มสุกรหลายแห่งได้ประชาสัมพันธ์ไปว่าถ้าฟาร์มไหนมีสุกรที่ล้มป่วยด้วยอาการต่างๆ ของโรคดังกล่าวนี้ให้แจ้งเข้ามาที่สำนักงานปศุสัตว์ เพื่อจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บเลือดส่งตรวจ ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรค



กำลังโหลดความคิดเห็น