xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านชนเผ่าบลูประท้วงถูกไล่พ้นผาแต้ม ยันอยู่นานกว่า 100 ปีก่อนประกาศเขตป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อุบลราชธานี - ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม 3 หมู่บ้านกว่า 100 คนรวมตัวประท้วง อุทยานแห่งชาติออกคำสั่งไล่พ้นพื้นที่ สรุปจังหวัดสั่งระงับการรื้อถอนไว้รอการตรวจสอบก่อน



วันนี้ (23 พ.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี มีชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านท่าล้ง บ้านกุ่ม บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประมาณ 100 คน นำโดยผู้ใหญ่บ้านทั้ง 3 หมู่บ้านเข้ายื่นหนังสือถึงนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อช่วยเหลือกรณีนายนครินทร์ สุทัตโต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม แจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกยึดครองที่ดิน ก่อสร้างที่อยู่อาศัย แผ้วถางป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านท่าล้ง จำนวน 6 ราย เนื้อที่รวมกันประมาณ 6 ไร่

พร้อมนำหนังสือขับไล่มาติดแจ้งให้ผู้บุกรุกจำนวน 6 รายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชไร่ ออกไปจากเขตอุทยานภายในวันที่ 20 ธันวาคม ศกนี้ หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องจ่ายเงินค่ารื้อถอนให้แก่เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าทำการรื้อถอนด้วย

นายธีรเกียรติ แก้วใส ผู้ใหญ่บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ กล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือครั้งนี้ว่า ชาวบ้านและพวกตนเป็นชนเผ่าบรู ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ตั้งรกรากหากินอยู่ตามริมแม่น้ำโขงมาหลายชั่วอายุคนนานกว่า 100 ปี และชาวบ้านบางส่วนก็มีเอกสารครอบครองที่ดินทำกิน ส.ค.1 ซึ่งราชการออกให้ตั้งแต่ปี 2497 ก่อนมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงภูโหล่นปี 2516 และก่อนมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเมื่อปี 2534


เมื่อมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีการตกลงกันแนวเขตที่ดินทำกินระหว่างอุทยานแห่งชาติกับชาวบ้าน โดยต้องไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม ซึ่งมีการทำแนวเขตกันชนไว้อย่างชัดเจน เป็นที่รับรู้ทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน พร้อมอยู่ร่วมกันมาอย่างเป็นสุข

กระทั่งต่อมาภายหลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายทวงคืนผืนป่า เจ้าหน้าที่ได้อ้างเอกสารภาพถ่ายว่ามีบางพื้นที่ที่ไม่มีสภาพการทำกินของชาวบ้าน ก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยาน พร้อมทั้งทำการรังวัดขยายแนวเขตเข้ามาในเขตหมู่บ้าน ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานกับชาวบ้านมาโดยตลอด เพราะกลายเป็นว่าชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกในเวลาต่อมา

จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนและส่งเอกสารการครอบครองไปยังสำนักนายรัฐมนตรีเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.ย. นายพุฒิพงศ์ วรพฤกษ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคณะกรรมการฝ่ายเลขานุการโครงการจัดที่ดินทำกิน เข้าชี้แจงต่อชาวบ้านว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงภูโหล่น (พื้นที่เดียวกับอุทยานผาแต้ม)

โดยให้เข้าทำกินเป็นแปลงรวม ไม่ให้เอกสารสิทธิเป็นรายบุคคล ตามเจตนารมณ์ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้รัฐได้ป่า และประชาชนได้ที่ทำกิน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาคนทับป่า ป่าทับคน ที่มีปัญหายืดเยื้อกันมาอย่างยาวนานหลายสิบปี

ซึ่งชาวบ้านก็ได้ชี้แจงต่อนายพุฒิพงศ์ และคณะทำงานทราบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเมื่อปี 2534 ทับที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนก่อนมีประกาศเขตอุทยานกว่า 100 ปี

จึงมีข้อตกลงให้ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนสามารถครอบครองที่ดินทำกิน ซึ่งมีเอกสารการครอบครองทั้งในประเภท น.ส.3 และ ส.ค.1 สามารถอยู่อาศัยและประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมหลังมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแล้ว ซึ่งได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

กระทั่งปี 2557 มีประกาศของ คสช.ออกมาเกี่ยวกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานและป่าสงวนต่างๆ โดยในส่วนของชาวบ้านท่าล้ง บ้านกุ่ม และบ้านตามุย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้มีการกำหนดแนวเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มใหม่อีกครั้ง ทำให้รุกล้ำเข้ามาในเขตของชาวบ้านที่ครอบครองอยู่ก่อน

ในครั้งนั้น นายพุฒิพงศ์มีความเห็นว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้านได้ทราบปัญหาเพิ่มเติม ทั้งการประกาศเขตทับซ้อนกับที่ดินทำกิน โดยชาวบ้านมีเอกสารการครอบครองที่ดินมาก่อนมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

จึงได้รับเรื่องนำไปเสนอให้คณะทำงานชุดใหญ่ทราบเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงสำรวจรังวัดแนวเขตให้ชัดเจนเพื่อเป็นการพิสูจน์สิทธิการครอบครองของชาวบ้าน จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างถาวร

แต่ยังไม่ทันได้ข้อสรุปใดๆ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อชาวบ้าน พร้อมไล่ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและผลผลิตภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่พึ่งมาร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดในวันนี้อีกครั้ง

ต่อมานายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ลงมารับหนังสือกับชาวบ้านที่มาชุมนุมประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรม และได้พาชาวบ้านเข้าไปพูดคุยหารือในศูนย์ดำรงธรรมเพื่อหาทางช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังจะถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นวันนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบพื้นที่ตามรูปแบบประชารัฐ โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ภายใน 15 วัน

รวมทั้งระหว่างนี้ห้ามชาวบ้านขยายพื้นที่การครอบครองหรือเข้าทำการเพาะปลูกพืชผลใดๆ ในพื้นที่จนกว่าได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการที่จังหวัดตั้งขึ้น และแจ้งให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้มระงับการเข้ารื้อถอนหรือดำเนินการใดๆ ต่อชาวบ้านทั้ง 6 รายไว้จนกว่าจะได้ข้อสรุปของคณะกรรมการที่จังหวัดตั้งขึ้นมาด้วย

สำหรับชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิการครอบครองทั้ง ส.ค.1 และ น.ส.3 และต้องการออกเอกสารเป็นโฉนด กรรมการก็จะดำเนินการตรวจสอบ ก่อนส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการฝ่ายเลขานุการโครงการจัดที่ดินทำกินพิจารณาลงความเห็น เพราะเป็นอำนาจของฝ่ายนโยบายดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น