xs
xsm
sm
md
lg

สวนสัตว์เปิดเขาเขียวต้อนรับน้องใหม่เต่ายักษ์อัลดาบรา พร้อมเพื่อนอีก 3 ชนิด จากสวนสัตว์เขาดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สัตว์ชุดที่ 2 จากสวนสัตว์เขาดิน ถึงบ้านใหม่ที่เขาเขียว นำโดยพี่เต่ายักษ์อัลดาบรา ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก พร้อมด้วยอูฐสองโหนก พร้อมฝูงค่างห้าสี และม้าแคระ

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว เปิดเผยว่า ขณะนี้สัตว์ชุดที่ 2 จำนวน 4 ชนิด ย้ายมาจากสวนสัตว์ดุสิต มาถึงสวนสัตว์เปิดเขาเขียวแล้ว ประกอบด้วย เต่าอัลดาบรา จำนวน 2 ตัว ค่างห้าสี จำนวน 9 ตัว อูฐสองโหนก จำนวน 1 ตัว และม้าแคระ จำนวน 2 ตัว

โดยมีทีมสัตวแพทย์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด และสังเกตลักษณะอาการ ซึ่งพบว่าสัตว์ทั้งหมดที่เดินทางมาถึงมีสุขภาพแข็งแรงร่าเริงทุกตัว สามารถใช้ชีวิตภายในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้อย่างมีความสุข และวันนี้ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว พร้อมที่จะเปิดตัวสมาชิกใหม่ทั้ง 4 ชนิด โดยเฉพาะเต่าอัลดาบรา ตัวเมีย จำนวน 2 ตัว อายุประมาณ 8-12 ปี

เต่าอัลดาบรา ถือเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเต่ากาลาปากอส ซึ่งมีอายุอยู่ยืนได้มากกว่า 150 ปี มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะอัลดาบรา ในหมู่เกาะเซเชล คาบมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทย สามารถชมเต่าอัลดาบรา ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์นคราชสีมา ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์ที่หาชมได้ยาก พร้อมให้นักท่องเที่ยวน้องๆ หนูๆ สัมผัสความน่ารักของเต่ายักษ์อัลดาบราได้แล้วทุกวัน ณ บริเวณสวนสัตว์เด็ก

นายอรรถพร กล่าวต่อว่า สำหรับสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศ ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา โดยสัตว์ภายในสวนสัตว์ดุสิตจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังสวนสัตว์หลายแห่งทั่วประเทศ ภายใต้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

สำหรับ “เต่าอัลดาบรา” ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตัวผู้จะมีน้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม ขนาดกระดองยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียมีน้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม ขนาดกระดองยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ลำคอยาว กระดองมีสีน้ำเงินเข้มถึงดำ มีขาที่แข็งแรง เต่ายักษ์อัลดาบรา จะกินหญ้าและใบไม้เป็นอาหาร มีการวางไข่ครั้งละ 10-15 ฟองในหลุมตื้นๆ และกลบด้วยดิน ซึ่งสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้เต่ายักษ์อัลดาบราเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์




กำลังโหลดความคิดเห็น