xs
xsm
sm
md
lg

เปิด “บ้านนาบัว” หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวแห่งเรณูนคร ย้อนรำลึกวันเสียงปืนแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นครพนม - เปิด “บ้านนาบัว” อ.เรณูนคร เป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ขายอัตลักษณ์ความเป็นชนเผ่าผู้ไทยที่มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนใคร ที่สำคัญเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ “วันเสียงปืนแตก” 7 ส.ค. 2508 ก็เกิดขึ้น ณ บ้านนาบัวแห่งนี้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 พ.ย. 61) เวลา 09.00 น. บริเวณลานวัดบัวขาว บ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ซึ่งเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชนเผ่าผู้ไทยหรือภูไทมาตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้าน นายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอเรณูนคร เป็นประธานในพิธีเปิด “หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP village 8 เส้นทาง)” โดยมี นายพงศ์วิชญ์ เขียวมณีรัตน์ พัฒนาการอำเภอเรณู และนายศักดิ์ดา แสนมิตร ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวต้อนรับ พร้อมคณะนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านของชนเผ่าภูไทที่อดีตถูกทางการเรียกว่าเป็นหมู่บ้านคอมมิวนิสต์

นายพงศ์วิชญ์กล่าวว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งผลประชาชนในชุมชนมีความรักสามัคคีกลมเกลียว จึงเกิดการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวฯ 8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน โดยให้จัดอยู่บนพื้นฐานของอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น คงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของคนในชุมชน และทรัพยากรที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนเพื่อสร้างเป็นรายได้แก่ประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ


จังหวัดนครพนมมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนฯ ดำเนินโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP village) ซึ่งเป็นเส้นทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตคนลุ่มแม่น้ำโขง จัดกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) 8 เส้นทาง ในกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวขึ้น ตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งบกลาง) มีพื้นที่ดำเนินการ 9 หมู่บ้าน 7 อำเภอ

สำหรับ อ.เรณูนครมีพื้นที่เป้าหมายคือ บ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอโปรแกรมการท่องเที่ยว พร้อมแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน และนำผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่นจัดแสดง จำหน่ายแก่ผู้สนใจ เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยชวนสื่อมวลชน บริษัททัวร์ ภาครัฐ ภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

“หมู่บ้านนาบัว” เป็นชนเผ่าผู้ไทยหรือภูไทที่อพยพมาจากเมืองเวียงอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว โดยมาพร้อมกับชนเผ่าไทกะเลิง และตั้งรกรากเป็นชุมชนใหญ่ที่อำเภอเรณูนครในปัจจุบัน ประมาณปี 2435 นายจันทร์สอน จิตมาตย์ ได้แยกมาจับจองที่ทำกินใกล้กับหนองน้ำซึ่งมีดอกบัวขึ้นจำนวนมาก และตั้งชื่อว่าบ้านนาบัว ภายหลังมีญาติพี่น้องย้ายมาอยู่ด้วย จนกลายเป็นชุมชนใหญ่อีกแห่งของชนเผ่าภูไท


บ้านนาบัวเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคม ที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าคนไทยด้วยกันมีความขัดแย้งทางด้านความคิดทางการเมืองอย่างรุนแรง จนกระทั่งคนไทยต้องลุกขึ้นสู้ฆ่าฟันกันเอง ภายใต้ความคิดและแนวการเมืองที่แตกต่างกัน ภายใต้ความไม่เข้าใจกัน

กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตก คือวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ณ บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม (เรณูนครตั้งเป็นกิ่งอำเภอปี 2513) จ.นครพนม ซึ่งเป็นวันที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในขณะที่รัฐบาลเรียกว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลไทยเป็นครั้งแรก โดยกองกำลังของพรรคได้เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมืองและยึดเมือง

หลังจากวันเสียงปืนแตก พรรคคอมมิวนิสต์ฯ ก็ต่อสู้ด้วยอาวุธกับกองกำลังของรัฐบาลไทยมาตลอด และเป็นยุคแสวงหากลุ่มนักเรียนนักศึกษาประชาชนเข้าป่าเพื่อต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ฯ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การสู้รบยืดเยื้อเรื่อยมา มีการสูญเสียกันทั้งสองฝ่าย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออกคำสั่ง 66/23 นิรโทษกรรมแก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ใจความสำคัญคือใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม คำสั่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากนโยบายขวาจัดของรัฐบาลก่อนหน้ามาสู่การประนีประนอม

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติให้เป็นผลนั้นกินระยะเวลาหลายปี ต่อมา พคท.ได้เจรจากับรัฐบาลไทย และวันที่ 7 สิงหาคม 2522 หน่วยทหารในพื้นที่ได้จัดงาน “วันเสียงปืนดับ” ขึ้นที่บริเวณลานวัดบัวขาวแห่งนี้ เพื่อเเสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลกับสมาชิก พคท.ได้สิ้นสุดลง โดยในงานดังกล่าวมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) เดินทางมาร่วมงาน และได้มีการสร้าง “สนามเด็กเล่นน้ำใจป๋าเปรม” ไว้ในบริเวณวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ของการจัดงานวันเสียงปืนดับในครั้งนั้น

การเกิดวันเสียงปืนแตกมีบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า ในปี 2500 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกที่บ้านหนองกุง หมู่ 6 ต.โคกหินแฮ่ มีนายภูมิ ชัยบัณฑิต เป็นผู้นำการต่อต้านรัฐบาล ต่อมาในปี 2504 มีการจับกุมราษำรในหมู่บ้านในข้อหาอันธพาล โดยนำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม และที่จังหวัดอุดรธานี จากนั้นจึงนำไปขังไว้ที่เรือนจำนครบาล กรุงเทพฯ และครั้งสุดท้ายได้จับชาวบ้านนาบัว หมู่ 5 ต.โคกหินแฮ่ และบ้านหนองกุง จำนวน 9 คน ไปขังไว้ที่เรือนจำลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา ถึงปี 2507

หลังรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองกลับสู่ภูมิลำเนาตนเอง มีชาวบ้านหนองกุงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกยิงตาย 2 คน ทำให้ราษำรในเขตพื้นที่บ้านนาบัวและหมู่บ้านใกล้เคียงได้ทยอยกันเข้าป่าเพื่อร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากยิ่งขึ้น อันเป็นที่มาของเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัวแห่งนี้

หลังสิ้นสุดการสู้รบชาวบ้านนาบัวก็ออกจากป่า ดำรงชีวิตตามปกติ ร่วมกันพัฒนาชาติไทย และยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนเผ่าภูไท ที่อาศัยอยู่แบบพึ่งพาธรรมชาติ เรียบง่าย มีจารีต ประเพณีอันดีงาม และเอกลักษณ์ที่โดดเด่น อันได้แก่ สถาปัตยกรรมของบ้าน ภาษาที่ใช้ยังคงพูดภาษาภูไท รวมถึงการแต่งกาย ฟ้อนรำภูไท การผูกข้อมือบายศรี ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีศูนย์เรียนรู้บ้านนาบัว ที่รวบรวมเอาสิ่งของ เครื่องใช้ อาทิ รองเท้าแตะที่ทำจากหนังควาย หรืออุปกรณ์ทำมาหากินของบุคคลในอดีต ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมา วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น