xs
xsm
sm
md
lg

บุกทวงถาม! ชาวด่านขุนทดจี้บริษัทรับผิดชอบผลกระทบ “กังหันลมยักษ์” ใกล้ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวบ้านด่านขุนทด โคราช แหล่งทุ่งกังหันลมยักษ์ บุกทวงถามบริษัทเจ้าของกังหันลมผลิตไฟฟ้ารับผิดชอบจ่ายชดเชยเยียวยาชาวบ้านเดือดร้อนได้รับผลกระทบเสียงดังรบกวน ติดตั้งกังหันลมตั้งใกล้ชุมชน-ถนนสาธารณะ และไม่ทำประชาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกังหันลมผลิตไฟฟ้า ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ประมาณ 30 คน นำโดย นายวัฒน์ชัย กมลเรืองชัย ได้รวมตัวกันเดินทางไปที่ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามทวงถามค่าชดเชยเยียวยาที่เคยเรียกร้องไว้ เนื่องจากชาวบ้านได้รับผลกระทบทางด้านเสียงดังรบกวน จากกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ก่อสร้างติดตั้งใกล้ชุมชนและทางสาธารณะ

โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้านผู้เดือดร้อนคือ ให้ทางบริษัทฯ จ่ายชดเชยเยียวยาครัวเรือนที่อยู่นอกเขตรัศมีกังหันลม ระหว่าง 630 เมตร-2 กิโลเมตร ครอบครัวละ 50,000 บาท พร้อมต้องการให้บริษัทฯ ลงพื้นที่ไปชี้แจงชาวบ้านว่าจะมีการเยียวยาได้เมื่อไร ซึ่งทางบริษัทฯ แจ้งว่าหากได้รับผลกระทบจากเสียงดังรบกวนประชาชนและการเจริญเติบโตของพืชไร่จริง ทางบริษัทจะดำเนินการจ่ายค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหาหน่วยงานเข้ามาดำเนินการพิสูจน์ว่ามีผลกระทบจริงหรือไม่อย่างไร

จากนั้นกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกังหันลมผลิตไฟฟ้า ต.ห้วยบงได้เดินทางไปที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยบง เพื่อเรียกร้องให้ อบต.ห้วยบงเป็นตัวกลางในการจัดหาหน่วยงานพิสูจน์ผลกระทบเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างเร่งด่วนต่อไป

ทั้งนี้ ชาวบ้านระบุว่า การติดตั้งเสากังหันลมผลิตไฟฟ้าพลังงานลม (กังหันลม) ของ บริษัท กรีนโนเวชั่น จำกัด ในเครือข่าย บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ไม่มีการทำประชาคมชี้แจงให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับทราบล่วงหน้า ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กำหนดระยะห่างที่ตั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และขนาดกำลังผลิตติดตั้ง สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งในราชกิจจานุเบกษาหน้าที่ 12 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 147 ง 26 มิ.ย. 61 ตามข้อ 5 (3) ระยะห่างกังหันลมกับเขตชุมชน ให้กำหนดดังนี้

(ก) ผลกระทบด้านความปลอดภัย (safety) กำหนดระยะห่างจากโคนเสากังหันลมไม่น้อยกว่า 3 เท่าของผลรวมของความสูงเสากังหันลมบวกกับรัศมีใบพัดถึงเขตที่ดินของบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังที่ใกล้ที่สุดของเขตชุมชน (ข) ผลกระทบทางเสียง (sound) กำหนดให้มีระดับเสียงรบกวนไม่เกิน 10 เดซิเบลเอ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2550) และมาตรฐาน iec 61400-11 วัดจากเขตที่ดินของบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัยหลังที่ใกล้ที่สุดของชุมชน (6) ระยะห่างระหว่างเสากังหันลมกับทางหลวง ให้กำหนดระยะห่างจากโคนเสาไม่น้อยกว่า 1.2 เท่าของผลรวมของความสูงเสาบวกกับรัศมีใบพัด

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านคือวิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนไปและได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก ต้องทนอยู่กับเสียงดังรบกวนจากกังหันลมที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนที่พักอาศัยตลอดเวลา ซึ่งเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวมตัวกันเดินทางไปยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอความคุ้มครองไว้แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น