xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ยังขยายตัวดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ยังขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปัจจัยบวกจากการค้าโลกขยายตัว รายได้ภาคครัวเรือนฟื้นตัวดีขึ้น ห่วงปัญหากีดกันการค้า
นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันนี้ (2 พ.ย. 61) ที่ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. เป็นประธานแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 3 ปี 2561 พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงาน โดยมีสื่อมวลชนทั้งจากสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุ เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 3 ปี 2561 ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว ทั้งการใช้จ่ายสินค้าคงทนและสินค้าในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อจากรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ทั้งหมวดการก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ที่มีการเบิกจ่ายสูงในปีก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับอัตราการว่างงานปรับลดลง ส่วนเงินฝากและสินเชื่อคงค้างของสถาบันการเงินชะลอลงจากไตรมาสก่อน

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4 มีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น ประกอบด้วย การค้าโลกที่ยังขยายตัวดีแม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก รวมไปถึงการจ้างงาน ปัจจัยต่อมารายได้ภาคครัวเรือนฟื้นตัวดีขึ้นทั้งรายได้ครัวเรือนเกษตรกรรมและครัวเรือนนอกเกษตรกรรม ที่สำคัญ ภาครัฐขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมีมาตรการสนับสนุนกลุ่มฐานรากอย่างต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4 ความเสี่ยงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ทั้งบางพื้นที่มีโอกาสประสบปัญหาภัยแล้ง และที่สำคัญปัจจัยหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค ถ่วงเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4


กำลังโหลดความคิดเห็น