xs
xsm
sm
md
lg

"ยูไนเต็ด" รับเงื่อนไขชาวบ้าน ตั้งไตรภาคีตรวจสอบโรงงานใหม่ในพื้นที่ ทลฉ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา- ยูไนเต็ด รับเงื่อนไขชาวบ้านให้จัดตั้งไตรภาคีตรวจสอบการก่อสร้างโรงงานตัดชิ้นงานและล้างทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อนจากโครงสร้างทางทะเลและอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่จะเกิดใหม่ในท่าเรือแหลมฉบัง

วันนี้ (18 ต.ค.) นายพิพัฒน์พล อัมพรเพ็ชร์ ปลัดอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตัดชิ้นงานและล้างทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อนจากโครงสร้างทางทะเลและอุตสาหกรรมปิโตรเลียม บริษัท ยูไนเต็ด เวสท์ แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทในเครือบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ณ ห้องประชุมเมืองท่า สำนักงานเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยมีประชาชนในพื้นที่อ่าวอุดม แหลมฉบัง และใกล้เคียง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 คน

นายสมชัย เปลี่ยนใจสุข ผู้แทนของบริษัท ยูไนเต็ด เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความประสงค์จะขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 106 สำหรับประกอบกิจการรื้อตัดแยกส่วน และทำความสะอาด โครงสร้างทางทะเลที่ผ่านการใช้งานแล้ว ได้แก่ แท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เพื่อส่งเป็นวัตถุดิบให้แก่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก

โดยโรงงานที่จะก่อสร้างใหม่ตั้งอยู่ที่เลขที่ 48 ม.3 ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในเนื้อที่ 10,891.89 ตารางเมตร จะมีอาคารล้างสารปนเปื้อน โรงจัดเก็บของเสียอันตราย ของเสียไม่อันตราย ลานกองเศษเหล็ก กระโจมปกคลุมชิ้นงานป้องกันการฟุ้งกระจายและควบคุมอุณหภูมิ พื้นที่แยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ปนเปื้อน พื้นที่จัดวางขาแท่นและสิ่งติดตั้งที่ไม่ปนเปื้อน จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อ่าวอุดม แหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียง ในรัศมี 3-5 กิโลเมตร เพื่อประกอบการพิจารณาขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ โดยจะมีปริมาณการผลิตที่ 7,700 ตันต่อปี

ขณะที่ นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย และประธานคณะกรรมการกำกับด้านสิ่งแวดล้อมท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการนำโครงสร้างของแท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในทะเลอ่าวไทย ที่หมดอายุสัมปทานแล้วเพื่อลากขึ้นมาส่งให้แก่ บริษัทยูไนเต็ด เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัทยูนิไทชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด จึงเข้าข่ายต้องทำรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม หรือ ESA เพื่อให้กรมโรงงานอนุญาตก่อน และต้องให้การท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โครงการอนุญาตให้ประกอบการต่อไป

ทั้งนี้ การดำเนินการกิจการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนกังวลหลายประการ เช่น การตัดโครงสร้างดังกล่าวจะปล่อยไอระเหยของสารปรอท และอนุภาคปรอท รวมทั้งโลหะหนักอื่นๆ ที่ติดมากับเหล็กและชิ้นส่วนต่างๆ การแกะเอาเพรียงที่เกาะบนโครงสร้างจำนวนมากออกจะต้องหาที่กำจัดที่เหมาะสม

นอกจากนั้น ยังอาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองทั้งฝุ่นใยหิน และฝุ่นใยแก้วออกมาจำนวนมาก น้ำเสียจากการล้างและกำจัดฝุ่นจะมีการปนเปื้อนของสารเคมีและโละหนัก เช่น แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว เป็นต้น ส่วนคนงานที่ตัดเหล็กจะต้อทำในกระโจมปิดหมด ดังนั้น เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และสุขภาพอนามัย รวมทั้งต้องทำการประเมินความเสี่ยงทั้งเรื่องการระเบิดหรือเกิดไฟไหม้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องการให้ยกระดับให้เป็นการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมได้มีข้อตกลงดังนี้ 1.บริษัทยูไนเต็ด เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ขอใช้พื้นที่บริษัทยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด ประกอบการ แต่บริษัทยูนิไทยฯ ประกอบกิจการต่อเรือขนาดใหญ่ อู่ซ่อมเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากในพื้นที่ดังกล่าวไปประกอบกิจการประเภทอื่นที่ไม่เคยได้รับอนุญาต จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขอให้บริษัทยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์เอนจิเนียริ่ง จำกัด ทำหนังสืออย่างเป็นทางการสอบถามไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ.ว่าต้องทำรายงานอีไอเอหรือไม่ก่อนดำเนินงานต่อไป

2.ภาคประชาชนในพื้นที่มีความกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จึงต้องการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการ ทำหน้าที่กำกับการทำรายงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม กำกับการก่อสร้างและการดำเนินการ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะและรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน

3.หากได้ข้อสรุปของรายละเอียดลักษณะของโครงการและมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนแล้ว ขอให้จัดเวทีนำเสนอให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและให้ความเห็นต่อไป รวมทั้งโครงการต้องเปิดบ้านให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมเป็นระยะด้วย

และ 4.โครงการซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของการท่าเรือแหลมฉบังซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมการประกอบการของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และตั้งอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน ดังนั้น จึงสมควรที่บริษัทยูไนเต็ด เวสท์ แมเนจเม้นท์ จำกัด จะต้องทำการศึกษาถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและเปิดเผยให้เป็นที่ยอมรับ และไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ โดยทั้งท4 ข้อดังกล่าวถือเป็นสัญญาประชาคมที่โครงการกับประชาชนในพื้นที่ตกลงร่วมกัน

โดยล่าสุด บริษัทฯ และบริษัทที่ปรึกษาได้รับข้อเสนอที่ตัวแทนชาวบ้านเสนอทั้งหมด เพื่อให้โรงงานและประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และไม่มีปัญหาในอนาคต ซึ่งสร้างความพอใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จากนั้นได้เลิกประชุม และแยกย้ายกันกลับบ้าน





กำลังโหลดความคิดเห็น