xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ สหราชอาณาจักร ร่วมรำลึกครบรอบ 75 ปี การสร้างเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กาญจนบุรี - เจ้าชายริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ สหราชอาณาจักร ร่วมรำลึกครบรอบ 75 ปี การสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในการสร้างเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์

เย็นวันนี้ (17 ต.ค.) ที่สุสานทหารสัมพันธมิตร (ดอนรัก) อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าชายริชาร์ด อเล็กซานเดอร์วอลเตอร์ จอร์จ ดยุกแห่งกลอสเตอร์ สหราชอาณาจักร เป็นประธานในพิธีรำลึกครบรอบ 75 ปี การสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า พร้อมด้วย คุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี นายไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พ.อ.โรจเจอร์ เลวิส ทูตทหารประจำสถานทูตอังกฤษ นายจูเลี่ยน อิวานส์ ผู้อำนวยการคณะกรรมการสุสานแห่งเครือจักรภพ และภริยา Mr.Gregoire Legault ผู้แทนมูลนิธิเอเชีย แปซิฟิกแห่งแคนาดา Mr.Van Leeuwen รองทูตเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมพิธี

สุสานสงครามแห่งเครือจักรภพ ได้จัดงานรำลึกครบรอบ 75 ปี การสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในการสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ซึ่งทางรถไฟสายมรณะสร้างขึ้นในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวชาวจีน ญวน ชวา มลายู พม่า และอินเดีย อีกจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล เพื่อจะไปโจมตีพม่า และอินเดีย

ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ เส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงคราม และโรคภัย ตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2486 และเปิดใช้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ปีเดียวกัน หลังสิ้นสุดสงคราม รัฐบาลไทยได้จ่ายเงิน จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อซื้อทางรถไฟสายนี้จากอังกฤษ และทำการซ่อมบำรุงบางส่วนของเส้นทางดังกล่าว เพื่อเปิดการเดินรถตั้งแต่สถานีหนองปลาดุก จนถึงสถานีน้ำตก โดยอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน





กำลังโหลดความคิดเห็น