ยโสธร - เปิดใจสาววัย 37 ปีเจ้าของสวนสมุนไพรและโรงอบสมุนไพรแห้งรายแรกรายเดียวในอีสานที่ อ.กุดชุม เผยศึกษาเรื่องสมุนไพรไทยมาแต่เด็กจนลงมือปลูกและติดต่อส่งขายให้โรงงานสมุนไพรใหญ่แต่ละเดือน 1-2 ตัน ล่าสุดยื่นจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ที่ จ.ยโสธร ได้มีชาวบ้านใน ต.กุดชุม อ.กุดชุม หันมาสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องสมุนไพรด้วยตัวเอง และเรียนรู้เพิ่มเติมจากองค์กรหน่วยงานที่อบรมเกี่ยวกับสมุนไพรไทย จนจบหลักสูตรและนำความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาและทดลองปลูกจนสามารถขยายพันธุ์พืชสมุนไพรได้ด้วยตนเอง ทั้งยังได้ส่งเสริมเพื่อนบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์หันมาปลูกพืชสมุนไพรอบแห้งส่งขายเป็นรายได้เสริม
โดยส่งขายให้โรงงานผู้ผลิตยาสมุนไพรรายใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งรับซื้อแบบไม่อั้น ราคาก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของสมุนไพร
น.ส.กระแสบุญ ดอกบัว อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ 10 บ้านหนองเมืองกลาง ต.กุดชุม อ.กุดชุม จ.ยโสธร ชาวบ้านผู้บุกเบิกทำสมุนไพรอบแห้งส่งขายเล่าว่า ตนเป็นคนที่ชอบเรื่องสมุนไพรมาตั้งแต่เด็ก จึงพยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสมุนไพรด้วยตนเอง รวมทั้งได้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพรกับสถาบันที่สอนเกี่ยวกับสมุนไพรจนมีความรู้เรื่องสมุนไพรมากขึ้น
หลังจากนั้นจึงได้นำความรู้ที่มีอยู่ทดลองปลูกพืชสมุนไพรในที่ดินของครอบครัว โดยใช้ที่นาประมาณ 30 ไร่ ปรับเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกพืชสมุนไพรประมาณ 5-6 ไร่ ปลูกข้าว 23 ไร่
ช่วงแรกจะปลูกสมุนไพรแล้วตากแห้งหรือแปรรูปง่ายๆ ส่งขายในละแวกชุมชน ต่อมาได้ไปติดต่อโรงงานผู้ผลิตสมุนไพรรายใหญ่ของประเทศไทยที่จังหวัดปทุมธานีและตกลงรับซื้อสมุนไพรกับตนแบบไม่อั้น แต่จะรับเป็นสมุนไพรอบแห้งเท่านั้น ตนจึงได้หันไปทำเป็นสมุนไพรอบแห้งโดยใช้เครื่องอบแห้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่คิดค้นขึ้นเอง
ต่อมาได้รับการสนับสนุนสร้างโรงอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากสำนักงานพลังงานจังหวัดยโสธร จึงได้ทำสมุนไพรอบแห้งส่งขายเรื่อยมาจนขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
น.ส.กระแสบุญกล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากตนจะปลูกสมุนไพรขายเองแล้ว ยังได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านที่สนใจปลูกอีกด้วย โดยตนจะรับซื้อสมุนไพรจากชาวบ้านทั้งสดและแห้ง หากเป็นสมุนไพรสดก็จะว่าจ้างแรงงานไปช่วยสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปตากแดดให้แห้งแล้วนำเข้าเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อไล่ความชื้นอีกรอบ แล้วนำไปวัดปริมาณความชื้น
“สมุนไพรอบแห้งต้องมีความชื้นไม่เกิน 8 เปอร์เซ็นต์จึงจะผ่านตามมาตรฐานของโรงงานก่อนจะส่งต่อให้โรงงานที่รับซื้อเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1-2 ตัน มีรายได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท” นางสาวกระแสบุญกล่าว และว่า
น.ส.กระแสบุญบอกอีกว่า หลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วจะมีรายได้ราวเดือนละ 2-3 หมื่นบาท สมุนไพรที่ตนส่งขายและรับซื้อจากชาวบ้านส่วนใหญ่คือ ฝาง, ขอบชนางแดง, โด่ไม่รู้ล้ม, มะขามป้อม, แก่นจันทร์หอม, อบเชย, โคคาน, หัวข้าวเย็นเหนือ, หัวข้าวเย็นใต้, ขัดมอน, ผิวมะกรูดและหญ้าไทร แต่สมุนไพรที่ตลาดกำลังต้องการมาก คือ ขัดมอน, โด่ไม่รู้ล้ม, หญ้าไทร, ผิวมะกรูด และมะขามป้อม
ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างขอจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีผู้สนใจได้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 30 คน และหลายคนก็เริ่มปลูกสมุนไพรในพื้นที่ของตนเองแล้ว และพร้อมที่จะเก็บสมุนไพรส่งขายได้ตลอดทั้งปีเพื่อสร้างรายได้เข้าครอบครัว
พืชสมุนไพรนอกจากที่ปลูกเองได้แล้วยังมีอีกหลายชนิดที่สามารถขึ้นเองตามธรรมชาติและเก็บไปขายได้โดยไม่ต้องลงทุน เช่น ขัดมอน