xs
xsm
sm
md
lg

สพภ.ผนึก 4 มหา’ลัย ลงมือวิจัยหนุนผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน การันตี 36 โปรดักส์ 10 ชุมชนนำร่องดีจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ขอบคุณภาพข่าวจาก คณะเภสัชศาสตร์ มช.
เชียงใหม่ – สพภ.-เภสัช มช. และเครือข่าย 4 มหา’ลัย หนุนงานวิจัยยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้านทั่วไทย นำร่อง 10 ชุมชนต้นแบบทั้งเหนือ-อีสาน-ตะวันออก-ใต้ การันตี 36 ผลิตภัณฑ์อาหาร-เครื่องสำอาง-เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ดีจริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว หัวหน้าศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์การมหาชน) ร่วมกับศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ -คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำองค์ความรู้จากงานวิจัยยกระดับผลิตภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศ

ภายใต้เป้าหมายคือ ผลผลิตพื้นบ้านที่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะต้องได้รับการพัฒนาใน 3 ด้านคือ ด้านคุณภาพ ด้านประสิทธิผล และด้านความปลอดภัย เนื่องจากในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยในปัจจุบัน เป็นการเน้นในการผลิตเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย แต่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ในแต่ละรูปแบบ ทำให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรส่วนหนึ่งพบปัญหาในเรื่องความคงตัว ปัญหาการนำสารสกัดสมุนไพรที่ไม่เหมาะสมมาใช้กับผลิตภัณฑ์ ปัญหาการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม

และที่สำคัญ คือ ชุมชนยังขาดการดึงจุดเด่นของวัตถุดิบที่นำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงได้ ทั้งที่ความเป็นจริงของดีในชุมชนนั้นมีจริง ชุมชนเป็นเจ้าของภูมิปัญญาจริง ดังนั้นโจทย์ในการพัฒนา จึงมาจากชุมชนมีส่วนร่วม ว่าต้องการอย่างไร ประกอบกับการวิเคราะห์จากนักวิจัยทำให้กำหนดทิศทางการพัฒนาเป็น การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยสนับสนุนข้อมูลการใช้ประโยชน์สมุนไพร ที่เป็นทรัพยากรในท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและโอกาสทางการตลาด

โดยในการดำเนินงานปี 60-61 ได้มีการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย เป็นต้นแบบ 10 ชุมชน ได้รับการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์รวม 36 รายการ ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพบ้านเมืองกื้ดช้าง จ.เชียงใหม่ , วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสันมหาพนสมุนไพรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ ,วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไร่นาสวนผสมบ้านไร่กอค่า จ.ลำพูน

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปน้ำหมากเม่าบ้านบัว จ.สกลนคร ,วิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ จ.เลย , วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรทางชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน บ้านวังส้มซ่า จ.พิษณุโลก , วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ,วิสาหกิจชุมชนจัดการสมุนไพรวนเกษตรป่าตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา , วิสาหกิจชุมชนบ้านเขานาใน จ.สุราษฎร์ธานี และกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง

ซึ่งมีทั้งชุมชนที่ใช้ทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์แบบดั้งเดิมอยู่แล้ว และทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนในกลุ่มเครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ภายหลังจากการพัฒนามีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชน จากศูนย์สมุนไพรภาคเหนือและเครือข่าย ตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีการแนะนำแนวทางในการปรับปรุงสถานที่ผลิต การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ เช่น ความทึบแสงของวัตถุห่อบรรจุ รูปทรง ความทันสมัย การแสดงฉลากที่ถูกต้อง การแสดงสรรพคุณหรือประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.สุนีย์ จันทร์สกาว หัวหน้าศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างงานวิจัยที่ทางวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ศึกษาเปลือกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง และเปลือกหุ้มเมล็ดของมะขาม พบว่ามีคุณสมบัติที่ดีเหมาะสมในการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอาง จากผลต้านอนุมูลอิสระที่ดี

ดังนั้น ในการนำความรู้ไปถ่ายทอดจะเริ่มตั้งแต่ กระบวนการในการคัดเลือกวัตถุดิบ การเตรียมและการสกัดสารสำคัญในตัวอย่างเพื่อให้ได้ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ฉลาก เป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีการพัฒนาให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทรัพยากรทางชีวภาพเพื่อเศรษฐกิจชุมชน บ้านวังส้มซ่า จ.พิษณุโลก และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

อันเป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกทรัพยากรเด่นในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ และเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า ซึ่งแต่เดิมทั้งเปลือกกล้วยและเมล็ดมะขามเป็นสิ่งที่ถูกทิ้งจากกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร รวมทั้งในการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแต่เดิมที่ใช้เฉพาะเนื้อมะขาม เมื่อพัฒนาแล้วมีการประเมินความพึงพอใจในกลุ่มเป้าหมายก่อนจะนำสู่ตลาดต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.สุนีย์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ประทับใจและสำคัญยิ่งของผลิตภัณฑ์จากชุมชน คือ วัตถุดิบจากชุมชนแต่ละแห่งมีการปลูก มีการใช้ มีประวัติมาอย่างยาวนานนับแต่อดีต การที่ชุมชนได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ก็เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตตั้งแต่ต้นว่าของดีมีดีจริง พร้อมส่งผลิตภัณฑ์สู่ตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อผู้บริโภค ที่จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดี จากของดีพื้นบ้าน ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางในการพัฒนาสมุนไพร ต้องอาศัยทั้งจากชุมชน นักวิจัย ที่ช่วยกันยกระดับเสริมคุณค่าผลิตภัณฑ์

กำลังโหลดความคิดเห็น