xs
xsm
sm
md
lg

ชนกลุ่มน้อยพม่าขยับ KNU ปักธงผุดเมืองใหม่เมียวดี จ่อสร้างห้องพักนับหมื่นยูนิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพประกอบจากเว็บไซต์เซม์แหล่ะไมง์ (https://seinnleimyaing.com)
ตาก/เมียวดี พม่า - KNU-กองกำลังติดอาวุธพม่า ยึดพื้นที่ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผุดโครงการเมืองใหม่เมียวดี สร้างห้องพักนับหมื่นยูนิตริมถนนอาเซียนไฮเวย์ ห่างชายแดนไม่สอดไม่กี่ไมล์

กองพลน้อยที่ 7 แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union : KNU) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในพม่า ได้ขยายเครือข่ายทางธุรกิจการลงทุนในนามบริษัท Stepping Stone บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) อย่างน่าจับตา

โดยดำเนินโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อ เซม์แหล่ะไมง์ สร้างห้องพักอาศัยจำนวน 10,000 ยูนิต รวมทั้งตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งตั้งอยู่โดยรอบสถานีรถโดยสาร บนเนื้อที่ 48 เอเคอร์ (122 ไร่) ริมถนน Asia Highway ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ในเมืองเมียวดี ไปประมาณ 4 ไมล์เท่านั้น

ห้องพักอาศัยต้นทุนต่ำในโครงการนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่เคยอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ที่ตั้งอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงคนงานที่จะข้ามมาทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ใน อ.แม่สอด จ.ตาก และชาวเมืองเมียวดีบางส่วน โดยเน้นจุดขายที่สามารถผ่อนส่งระยะยาวได้ถึง 20 ปี ในอัตราค่างวดเพียงเดือนละ 100,000 จั๊ต หรือคิดเป็นไม่เกิน 2 พันบาท ในอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้

โครงการเซม์แหล่ะไมง์คาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างได้ในปลายปีนี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณในการลงทุนครั้งนี้

บทบาททางธุรกิจของ KNU เริ่มต้นในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจการปกครองพม่าเมื่อกลางปี 2013 หรือ 2556 ด้วยการให้กองพลน้อยที่ 7 เปิดบริษัทที่ชื่อว่า โมโก่ซัน(http://www.moekosantravelsandtours.com) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนและได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกลางพม่า ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าของรัฐกะเหรี่ยงกับประเทศอื่นๆ มีสำนักงานใหญ่ของโมโก่ซันอยู่ในเมียวดีและพะอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง

เดือนธันวาคม 2015 โมโก่ซันได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจเดินรถโดยสารจากแผนกขนส่ง รัฐกะเหรี่ยง และได้ตั้งบริษัทลูกชื่อ “โด่ะเม็กส่วย” ขึ้นมา เพื่อวิ่งรถโดยสารในเส้นทางเมียวดี-ย่างกุ้ง, เมียวดี-ตองอู และเมียวดี-พะสิม โดยเริ่มต้นจากการใช้รถตู้ขนาด 15 ที่นั่ง

จากบริษัทการค้าและธุรกิจท่องเที่ยวมาสู่การเดินรถโดยสาร การเปิดตัวโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ถือเป็นก้าวย่างทางธุรกิจที่น่าติดตามของกองกำลังติดอาวุธที่เคยต่อสู้กับกองทัพพม่ามาอย่างโชกโชน

สำหรับ “เมียวดี” ถือเป็นหัวเมืองชายแดนสำคัญของพม่าที่มีการติดต่อการค้ากับไทยผ่านจุดผ่านแดนถาวรแม่สอด จ.ตาก ตลอดจนท่าข้ามต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำเมยกว่า 20 จุดมาอย่างยาวนาน ล่าสุดในปีงบประมาณ 61 ที่ผ่านมา การค้าระหว่างแม่สอด-เมียวดีมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 79,393.69 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.12 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 60 แต่ไทยได้ดุลการค้าสูงถึง 66,719.67 ล้านบาท

สินค้าส่งออกที่สำคัญอันดับต้นๆ เรียงตามลำดับ ได้แก่ รถจักรยานยนต์, เครื่องดื่มบำรุงกำลัง, โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์, น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล, น้ำตาล เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้ามูลค่าสูงอันดับต้นๆ ได้แก่ โคและกระบือ, เศษเหล็กเก่าใช้แล้ว, พลวงออกไซด์,เมล็ดถั่วลิสง, โทรศัพท์มือถือ
กำลังโหลดความคิดเห็น