xs
xsm
sm
md
lg

“บลูเทคซิตี้” แจงชดเชยที่ทำกินชาวบ้านบางปะกงตั้งนิคมฯ อย่างเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ฉะเชิงเทรา - “บลูเทคซิตี้” ตั้งโต๊ะโต้ข่าวฮุบที่ดินทำกินกว่า 2 พันไร่ ของชาวบ้านใน ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ชี้มีการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ขณะที่การก่อตั้งนิคมฯ ยังไม่เกิด เหตุยังทำ EIA ไม่แล้วเสร็จ

วันนี้ (8 ต.ค.) นายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล ที่ปรึกษาบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ได้ตั้งโต๊ะชี้แจง ที่สำนักงานชั่วคราวโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ถนนเลียบมอเตอร์เวย์สาย 7 ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา กรณีมีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.เขาดิน บุกร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา กล่าวหาว่า โครงการฯ ได้รื้อไล่ที่ดินทำกินและบ้านเรือนพักอาศัยของชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1, 2, 3 และ 7 ต.เขาดิน โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้เช่า ตาม พ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (พ.ร.บ.เช่าที่ทำนา) จนทำให้มีชาวบ้านจำนวนกว่า 30 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน

นายวิวัฒน์ ยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่เคยไล่รื้อบ้านเรือนที่พักอาศัยของชาวบ้านตลอดจนที่ดินทำกินตามที่ตกเป็นข่าว โดยบ้านเรือนที่ถูกรื้อถอนเป็นความสมัครใจของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่พอใจในการซื้อขายที่ดินระหว่างกัน ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ทำการซื้อที่ดินแปลงใหม่ จำนวน 12 ไร่ เพื่อจัดสรรให้แก่ชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้เข้าไปสร้างบ้านเรือนรายละ 50 ตารางวา ซึ่งทางโครงการจะเก็บค่าเช่ารายปีในอัตราที่ต่ำที่สุด และจะนำเงินค่าเช่าไปใช้ในการดูแลด้านสาธารณูปโภค โดยไม่นำเงินค่าเช่ากลับมายังโครงการ

“ที่ผ่านมา ทางโครงการได้มีการเยียวยาชาวบ้านไปทั้งหมดแล้ว แต่ก็อาจจะมีบางรายที่ตกหล่นหรือไม่ทั่วถึง เนื่องจากอาจเป็นผู้ที่เช่าช่วงต่อจากผู้เช่าโดยตรงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากมีชาวบ้านรายใดที่เป็นผู้เช่าช่วงต่อในที่ดินเดิมและยังไม่ได้รับการเยียวยา สามารถที่จะเข้ามาแจ้งชื่อไว้ที่โครงการ หรือแจ้งที่ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นผู้ที่เคยเช่าอยู่อาศัยทำกินอยู่จริง ก็จะชดเชยให้เช่นเดียวกันทั้งหมด”

นายวิวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการของบริษัทที่กำลังจะดำเนินการจะเป็นโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนรอบข้าง โดยผู้ประกอบการโรงงานที่จะเข้ามาก่อตั้งในพื้นที่จะต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาดไม่มีมลพิษ นอกจากนี้ การก่อสร้างตัวอาคารโรงงานจะต้องเป็นอาคารในรูปแบบใหม่ที่ดูสวยงาม เป็นซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายสมาร์ท ซิตี ของ จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ 2,116 ไร่ จากริมฝั่งลำน้ำบางปะกง จดถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา

“อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่ได้เริ่มลงมือดำเนินการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแต่อย่างใด เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และการทำ EIA จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะทำแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ของปีหน้า” นายวิวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ นางอ้อยใจ อุไรพันธุ์ ชาวบ้าน ม.5 ต.เขาดิน กล่าวว่า ครอบครัวของตนเองได้อยู่อาศัยและประกอบอาชีพทำกินอยู่ในที่ดินแปลงที่ถูกให้รื้อถอนบ้านเรือนออกไป ซึ่งที่ผ่านมา เกิดความสับสนจากกระแสข่าวหลายด้านที่ไม่ตรงกันกับข้อเท็จจริง และจากการที่บริษัทเจ้าของโครงการได้เข้ามาชี้แจงในวันนี้ทำให้รู้สึกว่ามีความชัดเจนมากขึ้น และเกิดความพึงพอใจ โดยหลังจากรื้อบ้านออกไปยังไม่รู้ว่าจะขนย้ายบ้านที่รื้อออกมาได้อย่างไร ซึ่งจากการรับฟังแนวทางการเยียวยาก็ทำให้สบายใจขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น