xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในอีสาน“กลุ่มผู้เลี้ยงปลาแปลงใหญ่”บ้านไผ่ ธ.ก.ส.ให้กู้10ล้านต่อยอดประมงน้ำจืด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

กลุ่มผู้เลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญ ที่ร่วมกลุ่มเลี้ยงปลาน้ำจืดแบบเกษตรแปลงใหญ่ ที่ประสบผลสำเร็จพลิกฟื้นดินเค็มให้เกิดผลทางเศรษฐกิจได้
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-แห่งแรกภาคอีสาน “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาแปลงใหญ่”บ้านหนองนางขวัญ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ พลิกวิกฤตดินเค็มเปลี่ยนขุดบ่อเลี้ยงปลา ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมีรายได้มั่นคง ล่าสุด ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ 10 ล้านบาทต่อยอดอาชีพประมงน้ำจืด

ใครจะคิดว่า พื้นที่ดินเค็มปลูกพืช ทำนาไม่ได้ผลอย่างบ้านหนองนางขวัญ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการประมงน้ำจืดที่มีกลุ่มนักวิชาการ ผู้นำชุมชน นักศึกษาและเกษตรกรชาวบ้านจากหลายจังหวัดแวะเวียนไปดูงานไม่ขาดสาย เนื่องจากการรวมกลุ่มเลี้ยงปลาของชาวบ้านที่นี่ประสบความสำเร็จ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาแต่ละรายมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ หลายครัวเรือนมีรายรับรวมแต่ละปีหลายแสนบาท บางครอบครัวได้มากกว่า 1 ล้านบาท

ที่สำคัญการรวมกลุ่มขุดสระเลี้ยงปลาของชาวบ้านที่นี่...มีความก้าวหน้าค่อนข้างรวดเร็ว จนสามารถพัฒนายกระดับเป็น “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาแปลงใหญ่”เพียงแห่งเดียวของ จ.ขอนแก่นและแห่งแรกในภาคอีสานตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมเชิงธุรกิจเพื่อความมั่นคงของเกษตรกร



นายวีระพงษ์ เทศน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย (อบต.เมืองเพีย) อ.บ้านไผ่ เล่าว่าสระเลี้ยงปลาที่เห็นในหมู่บ้านหนองนางขวัญ แต่ก่อนเป็นทุ่งนามีต้นธูปขึ้นกระจัดกระจาย ปลูกข้าวปลูกพืชผักไม่ได้ผลผลิตพอให้เก็บเกี่ยว เจอความเค็มของดินก็แคระแกร็นยืนต้นตายเกือบหมด ต่อมาร.ต.สมพงษ์ ไชยสง ได้ลาออกจากราชการทหารมาทดลองขุดสระเลี้ยงปลาเป็นรายแรก ในราวปี 2548 เพราะเห็นว่าแถวนี้มีคลองน้ำพลังไฟฟ้าไหลผ่าน มีแหล่งน้ำจากแก่งละว้าเป็นต้นทุน น่าจะทำเกษตรแบบผสมผสานตามทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้ดี

ผลปรากฏว่าปลาเลี้ยงในสระของ ร.ต.สมพงษ์ เติบโตได้ดี สามารถจับขายมีรายได้น่าพอใจ ชาวบ้านรายอื่นๆจึงทยอยแบ่งที่นาขุดสระเลี้ยงปลาตามบ้าง จากเดิมที่เริ่มขุดบ่อเลี้ยงรายละ 1-2 บ่อ ก็ลงทุนขยายจำนวนบ่อเพิ่มขึ้น ปลาที่จับได้นำไปขายที่ตลาดขายดิบขายดี จนเป็นที่รู้กันว่าบ้านหนองนางขวัญ ต.เมืองเพีย เป็นแหล่งเลี้ยงปลาที่สามารถหาซื้อได้ตลอดทั้งปี มีทั้งปลานิล ปลามรกต ปลากะพงขาว

ต่อมาในราวปี 2556 เกษตรกรที่เลี้ยงปลาได้รวมตัวเป็น “กลุ่มเลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญ” มี ร.ต.สมพงษ์เป็นโต้โผในการขับเคลื่อนประสานขอคำแนะนำจากหน่วยงานรัฐ ทั้งประมงอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ ทุกวันที่ 2 ของเดือนสมาชิกกลุ่มที่มีกว่า 10 รายได้นัดหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลการเลี้ยงปลากัน เพื่อช่วยกันพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น
นายวีระพงษ์ เทศน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย (อบต.เมืองเพีย)

นางทองใบ ไชยสง ภรรยาร.ต.สมพงษ์ ประธานกลุ่มเลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญ เจ้าของ “พงษ์เจริญฟาร์ม”บอกว่าหลายปีแล้วที่ครอบครัวได้หันมาเลี้ยงปลาเป็นอาชีพหลัก ที่นา 56 ไร่ได้ขุดสระเลี้ยงปลาทั้งหมด 17 บ่อ เลี้ยงปลานิล 15 บ่อ เลี้ยงกุ้งขาว 2 บ่อ โดยบ่อปลานิลทุกบ่อจะปล่อยปลากะพงลงไปเลี้ยงด้วยบ่อละไม่เกิน 100 ตัวเพื่อกินปลาเล็กๆไม่ให้อยู่แออัดกันมาก เมื่อปลานิลในแต่ละบ่อมีปริมาณที่เหมาะสมสามารถเติบโตได้เต็มที่ จับขายก็ได้ราคา

ขณะที่ปลากะพงเอง เป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการสูง จับขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 220 บาทเป็นอย่างต่ำ มีเท่าไหร่ก็ขายไม่พอ โดยแต่ละเดือนจะจับปลาออกขาย 2 ครั้ง มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าบ่อ เรื่องการตลาดไม่มีปัญหา ขอให้ปลาโตทันขายก็พอ รายได้ถือว่าน่าพอใจ เฉลี่ยแต่ละปีไม่ต่ำกว่าล้านบาท
มันสำปะหลังสารอินทรีย์ ใช้เป็นอาหารปลา

นางทองใบ บอกอีกว่าการเลี้ยงปลาของกลุ่มฯจะเน้นหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ ๙ ไม่ใช้สารเคมีพยายามพึ่งพาความสมดุลทางธรรมชาติมากที่สุด อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาก็ทำกันเอง ใช้ปุ๋ยคอกผสมกับรำแกลบหรือผสมกับหยวกกล้วย หรือมันสำปะหลังสับ สามารถลดต้นทุนได้มาก การเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติอย่างนี้ ไม่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยของเสียออกจากบ่อเลี้ยงปลา

ด้านนายฉลอมชัย เปล่งชัย ประมงอำเภอบ้านไผ่ เปิดเผยว่ากลุ่มเลี้ยงปลาบ้านหนองนางขวัญถือเป็นต้นแบบการทำปศุสัตว์น้ำจืดที่ประสบความสำเร็จในอันดับต้นๆของภาคอีสาน แม้สภาพพื้นที่จะเป็นดินเค็มปลูกข้าว ปลูกพืชไม่ได้ผลก็หันมาเลี้ยงปลาเป็นอาชีพแทน มีรายได้หมุนเวียนเป็นกอบเป็นกำ อาจจะมากกว่าการปลูกข้าวด้วยซ้ำ และถือเป็นเกษตรกร “กลุ่มผู้เลี้ยงปลาแปลงใหญ่” แห่งเดียวในภูมิภาคที่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร นักศึกษาและนักวิชาการด้านการประมงน้ำจืด

อย่างไรก็ตาม นายฉลอมชัยบอกอีกว่าข่าวดี ที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบ้านนางขวัญภูมิใจมากขณะนี้ คือทาง ธ.ก.ส.ได้อนุมัติเงินกู้ในโครงการสนับสนุนทำการเกษตรแปลงใหญ่ให้แล้ววงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้ทางกลุ่มฯนำมาต่อยอดพัฒนาอาชีพเลี้ยงปลา เป็นเสมือนกองทุนสำรองให้สมาชิกกลุ่มที่ตอนนี้มีกว่า 30 รายกู้ยืมเป็นทุนหมุนเวียนทำฟาร์มเลี้ยงปลาให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น


“การทำการเกษตรแปลงใหญ่เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ทำอาชีพด้านการเกษตรรวมกลุ่มกันผลิต ทำตลาดร่วมกัน จะมีความยั่งยืนมั่นคงด้านรายได้มากกว่าการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแบบเดิม”นายฉลอมชัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น