xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินเชียงใหม่เร่งสร้างผลงานสัญลักษณ์ทวงป่าแหว่ง-ตั้งลานท่าแพทุกวันอาทิตย์จี้ “รื้อ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศิลปินเชียงใหม่จับมือเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เร่งสร้างผลงานอนุสรณ์ “บ้านป่าแหว่ง” โครงสร้างเหล็กสูง 3 ม.ถอดแบบจากพื้นที่จริง แขวนระฆังให้คนตีและผูกริบบิ้นเขียว ตั้งจัดกิจกรรมทวงสัญญาทุกวันอาทิตย์ บนลานท่าแพ

ศิลปินกลุ่ม “ไฟเบอร์ เมกเกอร์ เชียงใหม่ (FIBERMAKER CHIANGMAI) ศิษย์เก่าจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ใช้เวลาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในสตูดิโอที่ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่จะใช้เป็นสัญลักษณ์ในการจัดกิจกรรมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทวงสัญญาตามข้อตกลงให้รื้อถอนบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ออกนอกแนวเขตป่าดั้งเดิมแล้วเร่งทำการฟื้นฟูพื้นที่ป่า

ทั้งนี้ ผลงานศิลปะดังกล่าวนี้ออกแบบให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนแผนที่โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือ “บ้านป่าแหว่ง” สูง 3 เมตร ใช้วัสดุในการสร้างเป็นเหล็ก โดยในรายละเอียดจะมีการทำแบบจำลองบ้านพักและอาคารชุดของโครงการแขวนไว้ในลักษณะของการกลับหัว เพื่อสื่อถึงความบิดเบี้ยวของหลักการ รวมทั้งมีการแขวนระฆังไว้ด้วย เพื่อให้ผู้คนตีส่งเสียงและให้ผูกริบบิ้นสีเขียวได้ด้วยในช่วงที่มีการนำไปจัดแสดงทำกิจกรรม

โดยเบื้องต้นทางเครือข่ายมีการกำหนดว่าจะนำไปตั้งจัดแสดงพร้อมทั้งทำกิจกรรมที่ลานประตูท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ทุกวันอาทิตย์ เพื่อทวงสัญญาป่าแหว่ง จนกว่ารัฐบาลจะทำตามสัญญารื้อบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ออกไป และส่งมอบคืนพื้นที่เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพป่า คาดว่าน่าจะเสร็จและเริ่มใช้ทำกิจกรรมได้ในวันอาทิตย์นี้ (16 ก.ย. 61) ขณะที่หากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประสบความสำเร็จและสิ้นสุดลงแล้ว จะมีการจัดหาสถานที่เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะชิ้นนี้อย่างถาวรต่อไป เพื่อเป็นอนุสรณ์ของการเรียกร้องในประเด็นนี้ของคนเชียงใหม่

นายจักรชัย ประวัติเมือง อายุ 43 ปี ศิลปินกลุ่ม “ไฟเบอร์ เมกเกอร์” เปิดเผยว่า แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานนี้เริ่มต้นมาจากนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งได้ติดต่อมาปรึกษาหารือกัน โดยส่วนตัวเห็นดีด้วย เพราะอยู่เชียงใหม่มานานกว่า 20 ปี และที่ผ่านมาติดตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องกรณี “บ้านป่าแหว่ง” มาตลอด แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เข้าร่วม เมื่อเห็นว่าพอจะช่วยได้จึงทำทันที

สำหรับแนวคิดของผลงานชิ้นนี้ตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนที่พบเห็นสามารถเห็นแล้วเข้าใจได้เลยทันทีว่าเป็นการเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บริเวณที่ตั้งโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อไม่ให้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไป โดยนอกจากโครงสร้างเหล็กที่ทำให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือน “บ้านป่าแหว่ง” แล้วยังมีการใส่รายละเอียดต่างๆ ด้วย คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะเสร็จและนำไปจัดวางทำกิจกรรมได้ในวันอาทิตย์นี้



กำลังโหลดความคิดเห็น