xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบันทึกชีวิต “โก้” หนุ่มไปรษณีย์ไทย แม่ตื่น จ.ตาก พกใจบึ่งมอเตอร์ไซค์ลุยโคลนขึ้นดอยลอยฟ้าส่งจดหมายข้ามวันข้ามคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตาก - หัวใจบุรุษไปรษณีย์ไทย เปิดบันทึกหนุ่มไปรษณีย์ไทยรับใช้สังคม แม่ตื่น-เมืองตาก บิดมอเตอร์ไซค์คู่ใจสู้ฝุ่น-ฝ่าฝนลุยโคลนขึ้นดอยลอยฟ้า ที่แม้แต่โฟร์วีลยังต้องพึ่งโซ่ ส่งจดหมายทุกฉบับ-พัสดุทุกชิ้นให้ถึงมือผู้รับ เส้นทางทรหดจนบางครั้งต้องนอนค้างกลางทาง เผยรับงานต่อจากพ่อ เมื่อก่อนลำบากกว่านี้


“ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก” ถือเป็นแผ่นดินบนดอยลอยฟ้า ห่างจากตัว อ.แม่ระมาด 58 กม. การเข้าถึงพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความยากลำบากตลอดทั้งปี..หน้าแล้ง เส้นทางเลาะเขาสูงเต็มไปด้วยฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ พอหน้าฝนสภาพเส้นทางคมนาคมเต็มไปด้วยหล่มโคลนแทบตลอดเส้นทาง หากหลุดออกจากตัวตำบลแล้ว แม้แต่รถขับเคลื่อนสี่ล้อก็ยังต้องพันโซ่กันทุกคัน เรียกว่า..ใจไม่ถึงจริงต้องถอยกันเป็นแถว



นายศตวรรตชัย ใหม่โม่ง หรือหนุ่มโก้ วัย 26 ปี ลูกจ้างนำส่งจดหมาย ปณอ.101 แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่รับงานต่อจากผู้เป็นพ่อในการนำส่งจดหมาย-พัสดุไปรษณีย์ ให้กับชาวแม่ตื่น 5 พันกว่าคน ที่ล้วนเป็นชาวกะเหรี่ยง-ปะกาเกอญอ 13 หมู่บ้าน 45 ป๊อก สองฝั่งลำน้ำแม่ตื่น มาแล้ว 6 ปี บอกว่า ถ้าไม่มีใจรักจริงก็ถอดใจได้เหมือนกัน เพราะแต่ละหมู่บ้านจะอยู่ห่างไกล เช่น หมู่ 7 ที่อยู่ทางเหนือห่างไป 40 กม.ติด อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และหมู่ 9 ที่อยู่ห่างราว 30 กว่า กม.ติด อ.สามเงา จ.ตาก แต่ละหมู่บ้าน ยังมีชุมชนบริวารอีก 4-5 ป๊อก และส่วนใหญ่แต่ละป๊อกก็จะอยู่บนเขาคนละลูก ไม่มีการติดบ้านเลขที่ ต้องอาศัยการจำชื่อ-ถามชาวบ้าน หรือผู้นำหมู่บ้านว่าคนนั้นอยู่หลังไหน คนนี้อยู่หลังไหน

นอกจากนี้ เส้นทางการเข้าถึงแต่ละหมู่บ้านแต่ละป๊อกล้วนเป็นถนนดินลูกรังเลาะเขาเกือบ 100% แม้หน้าแล้ง ที่จะมีแต่ฝุ่นก็ยังต้องใช้เวลาในการส่งจดหมาย หรือพัสดุไปรษณีย์ รอบละไม่น้อยกว่า 2 วัน จึงจะได้กลับบ้าน แต่ถ้าเป็นหน้าฝน ถ้าต้องนำส่งจดหมาย-พัสดุแต่ละรอบจะต้องนอนค้างอ้างแรมตามหมู่บ้านต่างๆ แบบค่ำไหนก็ไปขอนอนบ้านญาติ-คนรู้จัก รวมถึงครู ตชด.ในจุดนั้นๆ กว่าจะได้กลับบ้านในตัวตำบล ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน เนื่องจากเส้นทางเชื่อมต่อทุกๆ หมู่บ้าน ล้วนเต็มไปด้วยโคลนเลนดินแดงแทบทั้งหมด

“รถยนต์ก็ต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อพันโซ่ถึงจะไปได้ ส่วนมอเตอร์ไซค์เดิมใช้ฮอนด้า รุ่นดรีมธรรมดา เครื่องน็อกไปแล้ว ต้องเปลี่ยนเครื่อง-เปลี่ยนเฟรม ดัดแปลงเป็นรถวิบากถึงจะไปได้ เพราะต้องฝ่าโคลนลึกเกือบครึ่งล้อ เบรก-ยาง-ตลับลูกปืน ไม่ต้องพูดถึง แต่ละปีก็ต้องเปลี่ยนการหลายรอบเลยทีเดียว”

หนุ่มโก้บอกกว่า สมัยก่อนตอนที่พ่อตนทำ ลำบากยิ่งกว่านี้หลายเท่า พ่อเคยเล่าให้ฟังว่าร่วม 20 กว่าปี เกือบ 30 ปีก่อน เงินเดือน 2 พันกว่าบาท บางทีก็ต้องเดินข้ามดอยส่งจดหมาย สมัยนี้ดีขึ้นเยอะ แต่ก็ยังต้องนอนค้างกันกลางทางจนกว่าจะส่งจดหมายหมดถึงจะได้กลับ

“ต้องมีใจรักจริงๆ ประกอบกับตนเป็นคนในพื้นที่ เกิดและโตที่นี่ รู้พื้นที่ มีญาติพี่น้องอยู่ จึงไม่เป็นปัญหามากนัก”












กำลังโหลดความคิดเห็น