xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น“โนนเขวาโมเดล” ปลูกผักปลอดสารพิษ ส่งขายโลตัสทั่วอีสาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“กฤษฎา” เปิดโนนเขวาโมเดล โรงคัดแยกผักและผลไม้แห่งแรกของไทย ต้นแบบเกษตรกรยุคใหม่ ขับเคลื่อนแนวคิดเกษตรนาแปลงใหญ่ ผลิตผักปลอดสารพิษบนพื้นที่ 450 ไร่ มากถึงสัปดาห์ละกว่า 11 ตัน ส่งขายในเทสโก้โลตัสทั่วอีสาน
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วันนี้ (7ก.ย.61) ที่บ้านโนนเขวา ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้สด (Packing House) จ.ขอนแก่น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับเทสโก้โลตัส จัดตั้งขึ้นตามนโยบายการตลาดนำการผลิตและการทำเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีประชาชนในพื้นที่ร่วมรับมอบโรงคัดบรรจุพืชผักผลไม้ดังกล่าว เป็นจำนวนมาก

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต เป็นสิ่งที่รัฐบาลและก.เกษตรฯ ได้เน้นย้ำและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยนำแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบของประชารัฐ มาใช้ในทุกพื้นที่ ซึ่ง บ.โนนเขวา หรือที่เราเรียกว่า โนนเขวาโมเดล แห่งนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ และธุรกิจเอกชน มีการจับคู่ภาคการผลิตของเกษตรกรที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด โดยมีเทสโก้โลตัส มาทำการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกรของชุมชนแห่งนี้มากถึงสัปดาห์ละ 11.6 ตัน

การดำเนินงานว่าด้วยเกษตรแปลงใหญ่ และตลาดนำการผลิต ที่ขอนแก่นวันนี้ ชุมชนโดนเขวาเป็นต้นแบบสำคัญและดำเนินงานที่ชัดเจน โดยรับซื้อผักจากเกษตรกรตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ในผัก 9 ชนิด กลุ่มเกษตรกรบ้านโนนเขวา ที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 110 ราย มีพื้นที่สำหรับปลูกผักทั้งหมด 450 ไร่ โดยผักที่ปลูกนั้นจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและได้รับการการันตี ว่าเป็นเกษตรกรภายใต้มาตรฐาน GAP


อีกทั้งโรงคัดแยกแห่งนี้ได้ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งหมดแล้ว จากนี้ไปคือกระบวนการผลิตที่ขึ้นตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งเทสโก้โลตัสได้เข้ามากำกับ และร่วมกันสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ให้สามารถผลิตผักได้ตรงความต้องการของตลาด และผักที่ชุมชนแห่งนี้จะถูกส่งจำหน่ายในร้านค้าของเทสโก้โลตัส ทั้ง 98 สาขาทั่วทั้งภาคอีสานอีกด้วย

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าการดำเนินงานดังกล่าวนี้จะทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้มากกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ด้วยปริมาณการสั่งซื้อที่มากถึง 558.79 ตันในปี 2561 จากจุดเริ่มต้นที่ดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ จะต่อยอดรูปแบบการดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้ขยายเป็นวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่มีมากกว่า 2 ล้านไร่ทั่วทั้งประเทศ

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบนาข้าว จากเดิมทำนาปีละ 2-3 ครั้ง ทำอย่างไรให้การทำนาในครั้งที่ 2 และ 3 นั้นปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชตระกูลถั่ว ผักปลอดสารพิษ หรือทำการเกษตรที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด เพื่อให้เกษตรกรของไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น