พิษณุโลก - สทนช.เดินหน้าทำแผนแม่บทฟื้นบึงราชนก เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำกว่า 16 ล้าน ลบ.ม. มั่นใจทวงบึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำคืนมาแน่ หลังชาวบ้านรุก-หน่วยราชการขอใช้ประโยชน์กันยุบยับ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่พบปะและร่วมรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามแนวคลองวงพาด ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก-ต.วังทอง อ.วังทอง เมื่อเร็วๆ นี้ หลังจาก สทนช.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำแผนแม่บทฟื้นฟูบึงราชนกให้กลับคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์-รับน้ำได้มากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล
นายสมเกียรติเปิดเผยว่า สทนช.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ประสานและบริหารจัดการบึงราชนก โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาจัดทำแผนแม่บทและฟื้นฟูบึง ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้สำรวจ-เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลในด้านต่างๆ เช่น สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ปริมาณตะกอน ทรัพยากรดิน ระบบนิเวศทางน้ำและบนบก การใช้ประโยชน์พื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคม การท่องเที่ยว ฯลฯ
เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการปรับปรุงและฟื้นฟู รวมถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ก่อนนำมาผนวกกับการวิเคราะห์ระบบบริหารจัดการน้ำ สภาพปัญหาของบึงราชนกในด้านทรัพยากรน้ำ มลพิษ ระบบนิเวศ การใช้ประโยชน์ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นหรือเป็นเอกลักษณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความสําคัญต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ระบบสังคม กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ค่าใช้จ่ายและการลงทุน ข้อจํากัดของกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่สามารถฟื้นฟูพัฒนาบึงราชนกได้อย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถคืนสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์ของประเทศอีกแห่งหนึ่ง
เลขาธิการ สทนช.เผยอีกว่า การจัดการน้ำในบึงราชนก คือพื้นฟูบึงราชนกด้วยการขุดลอกพื้นที่บึงราชนกเฉพาะในส่วนที่เป็นพื้นที่แอ่งน้ำ ซึ่งจะสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 80% ของพื้นที่บึงในสถานภาพปัจจุบัน (4,865-2-085 ไร่) คิดเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 16.85 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากปัจจุบันเก็บน้ำได้เพียง 20% เท่านั้น
นอกจากนั้นยังจะต้องดำเนินการขุดลอกคลองสมอแขด้านเหนือและท้ายน้ำเป็นระยะทางอย่างน้อยด้านละ 3 กิโลเมตร นับจากจุดรอยต่อกับบึงราชนก และปรับปรุงฝายนํ้าล้นด้านข้างของประตูน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบํารุงแดน ขุดลอกคลองวงพาดด้านเหนือน้ำยาง 3 กิโลเมตร พร้อมก่อสร้างประตูน้ำ ปรับปรุงและเชื่อมต่อคลองระบาย 1 ซ้ายถึงคลองระบายสายซอยฝั่งซ้ายสายที่ 7 และคลองระบายสายซอยฝั่งซ้ายสายที่ 8 เข้าด้วยกัน รวมทั้งขุดคลองใหม่เพื่อเชื่อมต่อกับแม่น้ำวังทอง ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
สำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในพื้นที่บึงราชนก โดยไม่มีการออกแบบก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างใดๆ เพิ่มเติม แต่ควรจะปรับปรุงอาคารเดิมที่มีอยู่ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่มีการออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพต่อไป
อาทิ การก่อสร้างสะพานไม้ที่จะใช้เป็นทางเดินนั้น ควรจะมีความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ส่วนแนวสะพานไม้ที่มีการเชื่อมต่อกับกลุ่มต้นไม้ และพันธุ์ไม้เดิมที่เติบโตจากการปลูกในโครงการต่างๆ ที่จะต้องมีการตัดต้นไม้ออกเพื่อให้คงรักษาความร่มรื่น แต่ถ้าจะมีการเคลื่อนย้ายต้นไม้บางจุดออกจะต้องใช้รูปแบบการขุดล้อมเพื่อย้ายไปปลูกยังพื้นที่ใหม่ทดแทน
รวมทั้งจะต้องมีการปรับปรุงและยกระดับถนนโดยรอบจากเดิม +42.000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.ร.ท.ก.) เป็น +43.500 ม.ร.ท.ก. ให้มีพื้นผิวถนนตามมาตรฐานของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท โดยความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร พร้อมเส้นทางจักรยานกว้าง 2 เมตร ในส่วนของถนนเพื่อการสัญจรภายในโครงการเดิม จะต้องดําเนินการปรับปรุง ยกระดับให้มีผิวถนนตามมาตรฐานของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น
ทั้งนี้ “บึงราชนก” มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 4,865 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา ตั้งอยู่ในเขต ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก และ ต.วังพิกุล ต.วังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลาย แต่ที่ผ่านมาถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตร ปศุสัตว์ รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยจากประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ส่วนราชการก็ขอใช้ประโยชน์พื้นที่จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ในขณะนี้ มิหนำซ้ำยังปล่อยปละละเลยไม่มีการดูแลพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ แถมใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ไม่คุ้มค่า ทั้งๆ ที่บึงฯ มีประโยชน์เก็บกักน้ำ