สุโขทัย - เปิดคลิปเสียงสำเนียงภาษาถิ่นคนสุโขทัย ใครได้ยินเป็นต้องหูผึ่ง..สะท้อนเส้นแบ่งทางภาษาระหว่างล้านนา-อาณาจักรสุโขทัย พบทุกวันนี้คน 5 จังหวัดเหนือตอนล่างพูดคล้ายกันเด๊ะ
นอกจากมีความโดดเด่นในเรื่องของมรดกโลกทางวัฒนธรรม อย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย เมืองโบราณเก่าแก่ 800 ปี กับประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ ที่คนทั้งโลกรู้จัก และอยากมาชื่นชมแล้ว “สุโขทัย” ยังมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ “ภาษาสุโขทัย” ที่มีสำเนียงเหน่อ ฟังแปลกหู แต่ดูน่ารัก พูดปั๊บรู้เลยเป็นคนสุโขทัยแน่นอน
นายสมชาย เดือนเพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มจังหวัดมรดกโลกทางวัฒนธรรม จ.สุโขทัย กล่าวว่า ภาษาถิ่นสุโขทัยถือเป็นตัวชี้วัดความเป็นมรดกโลกอย่างหนึ่ง เพราะว่าเส้นภาษาระหว่างล้านนากับอาณาจักรสุโขทัยอยู่ที่คำว่า “ลำ” กับคำว่า “อร๋อย” ถ้าหมู่บ้านไหนพูดอร๋อย นั่นคือภาษาถิ่นสุโขทัย แต่ถ้าหมู่บ้านไหนพูดว่าลำ (อร่อย) นั่นคือภาษาถิ่นล้านนา
จากการสำรวจก็พบว่าภาษาถิ่นสุโขทัยไม่ได้มีพูดเฉพาะในจังหวัดสุโขทัยเท่านั้น แต่ยังพูดกันใน ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์, ต.ป่ามะม่วง อ.เมืองตาก, อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร, ต.สะเดียง อ.เมืองเพชรบูรณ์ และที่ ต.หนองกลับ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีการละเล่นมังคละเภรี และมีประเพณีกินสี่ถ้วยในงานแต่งเหมือนผู้คนในแผ่นดินพระร่วงอีกด้วย
ทำให้ทราบว่าภาษาถิ่นสุโขทัยสืบย้อนยาวไกลถึงสมัยสุโขทัยกว่า 700 ปี เพราะหมู่บ้านเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จ.สุโขทัย แต่ยังคงดำรงสำเนียงภาษาสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน
สำเนียงสุโขทัยมีวิธีสังเกต คือ จะผันเสียงเอกเป็นจัตวา ผันจัตวาเป็นเอก เช่น แกงไก๋ใส๋มะเขื่อพวง, เสือเป็นเสื่อ, เสื่อเป็นเสือ และบางคำก็เก่าแก่มีรากเหง้ามาจากภาษาเขมร เช่น ปลาเห็ด หรือทอดมัน เขมรเรียก “ปรอเหิต” หมายถึงลูกชิ้น หรืออาหารที่เอาเนื้อสับ ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วทำให้สุก และคำว่า “ด็อก” หรือตุ้มหู กับคำว่า “โม่โม่” ที่คนสุโขทัยใช้เรียกสุนัขให้มากินข้าว ในภาษาเขมรคือ “โมซีบาย” หมายถึงมากินข้าว
นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่คนสุโขทัยพูดกัน เช่น ขี้ปุ๋น (ฝรั่ง , กะจี้ (ตะขบ), ด็อก (ตุ้มหู), ลุด (ลิปสติก), ยางวง (หนังยาง), ใบซุทิ้น (ปฏิทิน), ปลาเห็ด (ทอดมัน), ส่ารพี (ทัพพี), ไน่ (ละลาย), สุ๋หั่ว (สระผม), ลูกแอ๊ (ลูกควาย), งัว (วัว), อิ๊โจ๋ (ลูกสุนัข), ตอดตอ (ตุ๊กแก), ตุ๊กแก้ม (จิ้งจก), แมงบี้ (ผีเสื้อ), เส้นแกงร้อน (วุ้นเส้น), รถเบ๋าะ (รถบัส), เรือบิน (เครื่องบิน), กะบวก (หลุม), คุ (ถังน้ำ), มุ่น (ลอด), นุง (ไม่กรอบ), หยูด (เหี่ยว) และไปเอ๊ง (ไป) เป็นต้น