xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ ม.บูรพา ใช้นวัตกรรมถ่ายภาพแนวใหม่โชว์ความงามจิตรกรรมฝาผนัง วัดใหญ่อินทาราม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ประธานสาขาวิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.บูรพา ใช้นวัตกรรมถ่ายภาพแนวใหม่คู่เทคนิคถ่ายภาพแบบผสมผสานทางทัศนศิลป์ โชว์ความงามจิตรกรรมฝาผนังสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย วัดใหญ่อินทาราม จ.ชลบุรี



ผศ.ดร.ชัยยศ วนิชวัฒนานุวัติ ประธานสาขาวิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกมาเปิดเผยถึงการจัดทำโครงการวิจัยจิตรกรรมฝาผนัง วัดใหญ่อินทาราม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และเป็นวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่มีความสมบูรณ์วัดหนึ่งของประเทศไทย ด้วยการใช้นวัตกรรมการถ่ายภาพ และเทคนิควิธีการถ่ายและการผสมภาพ เพื่อถ่ายทอดภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีมุมมองที่สมบูรณ์และไม่มีสิ่งบดบัง ที่สำคัญยังเป็นภาพที่สามารถมองเห็นได้ในระดับสายตาปกติ ทั้งที่ผนังมีความสูงถึง 7 เมตรครึ่ง ว่า เพื่อเป็นการเผยแพร่คุณค่าความงามทางศิลปะและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้เยาวชน และบุคคลทั่วไปได้เห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่นับวันจะอันตรธานหายไปด้วยการถูกทำลายโดยสภาพอากาศที่มีความชื้น

และผลกระทบจากเหตุไฟไหม้พรมภายในพระอุโบสถของวัด จนทำให้ความร้อนและควันส่งผลกระทบต่อสี และความชัดเจนของภาพเขียนภายในพระอุโบสถ ที่ขณะนี้กรมศิลปากร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการซ่อมแซม

“โครงการวิจัยในครั้งนี้ได้ใช้ทักษะและประสบการณ์จากการสอนเทคนิคการถ่ายภาพให้แก่นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มานานหลายปี โดยหาวิธีการในการถ่ายทอดมุมมองภาพที่สมบูรณ์ของภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้วยถ่ายภาพผนังด้านหลังองค์พระประธาน ที่ได้นำนวัตกรรมอุปรกรณ์การถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เราได้ยื่นจดสิทธิบัตรไว้แล้ว โดยใช้เทคนิคการถ่ายทีละภาพ ทีละส่วน ซึ่งภาพด้านหลังองค์พระประธาน ใช้เทคนิคการถ่ายมากกว่า 500 ภาพ ก่อนนำมาผสมภาพโดยใช้สัดส่วน ตำแหน่ง และสีของภาพเป็นพื้นสีเดียวกันหมด”

ทั้งนี้ ภาพที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพแบบพิเศษ ทำให้สามารถมองเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังองค์พระประธานที่ไม่มีโคมไฟ เสา คาน พระพุทธรูป หรือสิ่งแวดล้อมภายในพระอุโบสถบดบัง จึงทำให้ผู้ที่ได้ชมสามารถเห็นความสวยงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้านภายในพระอุโบสถ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) ได้ทั้ง 100% และยังสามารถดึงภาพที่อยู่ไกลตาให้ได้เห็นชัดขึ้นโดยที่ความสวยงาม และสีไม่เพี้ยนไปจากเดิม

สำหรับภาพจิตกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้านภายในพระอุโบสถ วัดใหญ่อินทาราม (พระอารามหลวง) เป็นภาพไตรภูมิ ที่มีการบอกเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสรรค์และนรก ว่าคนทำดีก็จะได้เกิดในที่ที่มีความสุข ส่วนคนทำชั่วก็จะไปเกิดในนรก โดยที่ภาพด้านหน้าองค์พระประธาน เป็นภาพที่บอกเล่าเกี่ยวกับพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้ โดยภาพด้านบนเป็นภาพพระพุทธเจ้าที่เป็นมหาบุรุษซึ่งทรงตั้งมั่นในสมาธิ แต่ก็มีพญามารขี่ช้างถือหอก ธนู และดาบ รวมทั้งเหล่ามารเข้ามาผจญ แต่ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น จึงทำให้เหล่าพญามารผจญพ่ายแพ้ไป

“จุดประสงค์สำคัญที่เราทำโครงการนี้เพราะเห็นว่า จิตรกรรมฝาผนังส่วนใหญ่มักจะอยู่ในโบสถ์และวิหาร ขณะที่เยาวชนปัจจุบันติดการเสพเทคโนโลยีและวัฒนธรรมต่างชาติ จึงอยากจะดึงเยาวชนรุ่นหลังให้หันมาเสพงานที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้ ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และจิตรกรรมฝาผนัง นอกจากจะมีคุณค่าทางความงามแล้ว ยังสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ที่เยาวชนควรจะได้เรียนรู้ เราจึงมีความคิดว่าจะนำภาพเหล่านี้ออกมาสู่ภายนอก เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังและประชาชนได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าและมีความงาม ด้วยการตีพิมพ์ภาพถ่ายทั้งหมดลงในหนังสือ ชื่อ นวัตกรรมการถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนังฯ ที่จัดทำให้แก่วัดใหญ่อินทาราม และก่อนหน้านี้ ก็เคยจัดแสดงเป็นนิทรรศการไปแล้ว และเตรียมที่จะจัดอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้”


 ภายในหนังสือจะบอกเล่าเรื่องราวและเนื้อหาที่มีอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง และเทคนิควิธีในการเขียนภาพ รวมทั้งร่องรอยการผสมผสานตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และการซ่อมแซมภาพที่มีเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-4 ซึ่งนอกจะทำให้ได้เห็นถึงความสวยงามของจิตกรรมฝาผนังทั้ง 4 ด้าน และเรื่องราวเนื้อหาของภาพนั้นๆ ว่าพูดถึงเรื่องอะไร ซึ่งจะทำให้คนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องพุทธศาสนาและพุทธประวัติ สามารถตีความหมายของภาพแต่ละผนังภาพได้มากขึ้น

“ในอนาคตเราวางแผนการเผยแพร่ผลงานภาพจิตกรรมฝาผนังที่มีมุมมองภาพที่สมบูรณ์สู่สาธารณชนอย่างทั่วถึงด้วยการจัดทำบาร์โค้ด และเพื่อให้ประชาชนได้เห็นคุณค่า และความสำคัญของภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งที่วัดใหญ่อินทาราม จ.ชลบุรี และวัดเกาะแก้วสุทาราม จ.เพชรบุรี ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเช่นกัน ซึ่งเราได้ทำภาพถ่ายในลักษณะเดียวกันเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนทั่วไป โดยเฉพาะที่วัดเกาะแก้วสุทาราม ซึ่งมีจุดเด่นที่การบอกเล่าเรื่องราวสถานที่หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 7 แห่ง โดยได้ถ่ายทอดมุมมองของภาพที่สมบูรณ์ทั้ง 4 ด้านเช่นเดียวกับที่วัดใหญ่อินทารามเช่นกัน และยังทำเป็นรูปแบบของหนังสือที่มีคำอธิบายแต่ละผนังภาพเช่นเดียวกัน”

ผศ.ดร.ชัยยศ ยังกล่าวอีกว่า จากนี้ไปยังมีแนวคิดที่จะนำศิลปวัฒนธรรมที่เป็นภูมิวัฒนธรรม ออกมานำเสนอให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ ด้วยการนำเทคโนโลยีขับเคลื่อนในรูปแบบสื่อสมัยใหม่ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี









กำลังโหลดความคิดเห็น