xs
xsm
sm
md
lg

หวังแก้แล้ง-ท่วมซ้ำซาก! สทนช.ร่วม มข.เดินหน้าทำแผนจัดการน้ำภาคอีสานทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สทนช.ร่วม มข.จัดระดมสมองตัวแทนส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องถกการจัดทำแผนจัดการน้ำภาคอีสาน หวังแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ย้ำทั้งเขื่อนอุบลรัตน์-เขื่อนลำปาวต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ

เช้าวันนี้ (30 ส.ค.) เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ห้องประชุมมงกุฎเงิน โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายปรีชา สุขกล่ำ รักษาการที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานประชุมติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคอีสาน ซึ่ง สทนช.ร่วมกับสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดขึ้น

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและผู้แทนองค์กรภาคเอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลางเข้าร่วมกว่า 150 คน

นายบุญสม ชลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ สทนช.กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานขณะนี้ว่า เกิดจากอิทธิพลของพายุที่พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ต่อเนื่องกัน 2 ลูก ดังนั้นพื้นที่จังหวัดที่กำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งบริหารจัดการน้ำและผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เพราะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมล้วนมีทำเลอยู่ติดริมแม่น้ำโขง

ดังนั้น หลังจากสามารถผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้สำเร็จ สถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ หลังจากนั้นก็จะต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกพืชเกษตรให้แก่ประชาชนที่ประสบเหตุทันที ดังนั้น แผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศที่ สทนช.ร่วมกับ มข.ได้ดำเนินการในพื้นที่ภาคอีสานนั้นคือการวางแผนการใช้น้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ

นายบุญสมระบุว่า ปี 2558-2259 ภาคอีสานประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งอย่างหนัก แต่ในปี 2560 กลับประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักเช่นกัน ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของภาคอีสาน คือ แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ซึ่งทุกจังหวัดต้องใช้น้ำร่วมกันนั้น คณะทำงานจะต้องบริหารจัดการต่อไปให้ได้ และในเดือนกันยายนนี้คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนจะตกลงมาอีกรอบแต่ไม่มากนัก

การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับภาวะภัยแล้งที่กำลังจะมีมาถึงนั้นสำคัญ โดย ณ ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงร้อยละ 28 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียง 100 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการเติมน้ำจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้มีน้ำหมุนเวียนไว้ใช้งานได้ตลอดทั้งช่วงฤดูแล้ง

ขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จากแผนการบริหารจัดการน้ำด้วยการเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี น้ำในเขื่อนลำปาวจะต้องมีความจุอยู่ที่ 1,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้มีอยู่ที่ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในระยะนี้จะต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด

“ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งนั้นเกิดขึ้นซ้ำซากมานาน จะต้องได้รับการแก้ไขและมีการวางแผนการแก้ไขร่วมกันทั้งในส่วนของรัฐบาล หน่วยงานที่รับผิดชอบไล่ไปจนถึงระดับปฏิบัติการและภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำ” นายบุญสมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น