xs
xsm
sm
md
lg

รองนายกฯ “ฉัตรชัย” เล็งเชื่อมเส้นทางน้ำโยงโขง-ชี-มูล แก้ปัญหาแล้ง-ท่วมถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย-รองนายกฯ “ฉัตรชัย” เร่งรัดโครงการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง ดึงน้ำโขงเข้าพื้นที่ตอนในใช้ประโยชน์ ทุ่มอีก 21,000 ล้านบาท เดินหน้าตามแผน 9 ปี เล็งเชื่อมเส้นทางน้ำโขง ชี มูล แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งถาวร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (29 ส.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย พร้อมนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำที่โครงการห้วยหลวง ต.จุมพล อ.โพนพิสัย พบปะประชาชนที่วัดโพธิ์งาม ต.วัดหลวง และชมจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มาติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย ตามที่ ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 61 อนุมัติโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ระยะเวลาตามแผนงาน 9 ปี ระหว่างปี 2561-2569 วงเงิน 21,000 บาท โดยกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารประกอบในปีงบประมาณ 2561

ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ต้องหาทางแก้ไขระยะยาวด้วยการวางแผนงานให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่าการนำน้ำโขงเข้ามาในพื้นที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำชี แม่น้ำมูลในพื้นที่ภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ แล้วมีการบริหารจัดการจัดสรรให้ประชาชน เกษตรกรชาวอีสานได้มีน้ำใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโครงการพัฒนาห้วยหลวงจะเป็นโครงการเริ่มต้นก่อน

จากนั้นรัฐบาลจะวางแผนงานระยะยาว 20 ปี ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้มีการบริหารจัดการลุ่มน้ำต่างๆ ให้ดีขึ้น ในการนี้อยากให้ประชาชนมีการรับรู้และร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศไปด้วยกัน

สำหรับโครงการพัฒนาห้วยหลวงตอนล่าง เป็นโครงการขนาดใหญ่ 1 ใน 9 แห่งที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำระดับชาติ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ความคืบหน้าของโครงการขณะนี้มีการสำรวจและออกแบบ สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง พนังกั้นน้ำเม 18.60 กิโลเมตร ประตูระบายน้ำตามลำน้ำสาขา 12 แห่ง และประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง หรือ ปตร.ดงสระพัง 1 แห่ง

เนื่องจากลำน้ำห้วยหลวงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีพื้นที่รับน้ำ 2,260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ซึ่งจะมีปัญหาน้ำท่วมประจำทุกปี ส่วนหน้าแล้งก็จะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร หลังจากโครงการนี้แล้วเสร็จจะทำให้สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองสูบน้ำจากลำน้ำห้วยหลวงที่เกินระดับควบคุมของประตูระบายน้ำ เพื่อระบายสู่น้ำโขง ในอัตราการสูบสูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 18,000 ไร่ แนวพนังกั้นน้ำช่วงตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวงป้องกันผลกระทบช่วงน้ำหลาก ลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 19,015 ไร่ อาคารบังคับน้ำตามลำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา 15 แห่ง รับน้ำช่วงน้ำหลากเพื่อระบายสู่น้ำโขง

สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 17,375 ไร่ ระบบชลประทานของโครงข่ายหัวงาน 13 โครงข่าย จะมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 18 แห่ง ส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานรวม 315,195 ไร่ รวมเป็นการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 300,195 ไร่ ครอบคลุม 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด 284 หมู่บ้าน 29,835 ครัวเรือน


กำลังโหลดความคิดเห็น