xs
xsm
sm
md
lg

คนปทุมรัตต์ค้านโรงงานน้ำตาล-ไฟฟ้าชีวมวล หวั่นกระทบข้าวอินทรีย์/สุขภาพ จี้รัฐทำประชาพิจารณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครือข่ายภาคประชาชน อ.ปทุมรัตน์ แสดงพลังคัดค้านการลงทุนโรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง
ร้อยเอ็ด - เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์กว่า 500 คน แสดงพลังค้านลงทุนโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง ห่วงใช้สารเคมีในไร่อ้อย กระทบข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ทั้งกระทบต่อสุขอนามัย จี้ชะลอโครงการ พร้อมเปิดเวทีประชาคมทุกหมู่บ้าน

วันนี้ (28 ส.ค.61) ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงชีวมวล โดยมีกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ในนามเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ กว่า 500 คน ประกอบด้วย กลุ่มข้าวอินทรีย์ ตำบลโนนสวรรค์, กลุ่มเกษตรกรชาวนาตำบลโนนสวรรค์, เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอปทุมรัตต์, เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอำเภอปทุมรัตต์,

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนปทุมรัตต์จำกัด, สภาองค์กรชุมชนอำเภอปทุมรัตต์, เครือข่ายครูอำเภอปทุมรัตต์ ได้ชุมนุมรวมตัวกัน แสดงพลัง ม่ยอมรับการลงทุนของโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ไม่เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมตัดสินใจ และมีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานรัฐและอ่านแถลงการณ์โดยตัวแทนกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหา

จากการที่บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด กำลังจะมีโครงการสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาด 24,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ขนาด 80 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยบริษัทได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินจำนวน 5 ร้อยกว่าไร่ บริเวณตลาดนัดโค-กระบือ ตำบลโนนสวรรค์ และได้ส่งเสริมปลูกอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ มาประมาณ 3 ปี แล้วนั้น

กระทั่งเมื่อต้นปี 2560 บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงานประเมินผลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีไอเอ (EIA) ทำให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการได้ถูกเปิดเผยมากขึ้น จึงทำให้คนปทุมรัตต์หลายคน หลายเครือข่าย ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาในครั้งนี้ ซึ่งจากการคิดวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่าคนปทุมรัตต์ เกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นประกอบด้วย

1.การสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล ขนาดใหญ่ถึง 24,000 ตันอ้อยต่อวัน อาจต้องใช้พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 360,000 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าอำเภอปทุมรัตต์ ซึ่งมีพื้นที่ 356.9 ตร.กม.หรือ 223,062.5 ไร่ ซึ่งอาจจะทำให้พื้นที่เกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพสูง กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีการใช้สารเคมีเข้มข้น

2.การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่ถึง 80 เมกะวัตต์ ต้องใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลายแสนตัน อาจทำให้เกิดปัญหากลิ่นเหม็นและฝุ่นละอองปลิวเข้าสู่ชุมชน ที่สำคัญฝุ่นละอองจากขี้เถ้าชานอ้อยที่เผาแล้ว มีโอกาสปลิวเข้าสู่ชุมชน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งการใช้น้ำในโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมาก อาจมีปัญหาแย่งน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้โรงงาน

3.ความกังวลต่อการทำไร่อ้อยต้องใช้สารฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี สารเคมีเกษตรในปริมาณมาก ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไหลลงนาข้าว ซึ่งเกษตรกทุกตำบลได้ทำนาปลอดสารพิษและนาอินทรีย์ ทั้งได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิ GI มีที่เดียวในโลก จำหน่ายทั่วประเทศและส่งออกทั่วโลก อาจจะมีสารเคมีปนเปื้อน ทำให้กินก็ไม่ได้ขายไม่ออก 4.ความกังวลต่ออุบัติเหตุจากรถบรรทุกอ้อย ที่คาดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 คัน รถพ่วงช่วงที่โรงงานเปิดรับซื้ออ้อย 5-6 เดือน ขณะที่ถนนเขตอำเภอปทุมรัตต์ เล็กไม่มีไหล่ทาง อาจทำให้ถนนอาจเสียหายและเกิดอุบัติเหตุมากขึ้นได้


กลุ่มและเครือข่ายต่างๆ ในอำเภอปทุมรัตต์ ขอเป็นตัวแทนประชาชนชาวปทุมรัตต์แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ยอมรับการดำเนินการที่ขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และขอเสนอข้อเรียกร้อง ให้บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ชะลอการดำเนินโครงการ โดยหยุดการทำอีไอเอไว้ก่อน เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่, ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องวางตัวเป็นกลาง ทำหน้าที่ให้ข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและทั่วถึง และสร้างการมีส่วนร่วม ยึดหลักตามกฎหมาย โดยจัดให้มีการประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านในอำเภอปทุมรัตต์ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้ข้อมูล และมีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ดำเนินโครงการหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น