บึงกาฬ - กุดทิงพื้นที่ชุ่มน้ำโลกวิกฤต เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ หนักสุดในรอบ 7 ปี ด้านผู้ว่าฯย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนัก หน่วยงานราชการยังทำงานได้ตามปกติ
วันนี้ (28 ส.ค.) เวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่ลุ่มต่ำภายในศาลากลาง เช่น บ้านพัก ผวจ. รอง ผวจ. ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ อาคารแฟลตห้องพัก ทั้งหมดตั้งอยู่ภายในศาลากลางจังหวัด ถูกน้ำจากหนองกุดทิง เอ่อล้นไหลเข้าท่วม ระดับน้ำสูง 30-50 ซม.
โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าโรงจอดรถทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ของอาคารศาลากลางจังหวัด ถูกน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ หลังมีมวลน้ำสะสมจากฝนตกเป็นจำนวนมากไหลหลากลงมาจากหนองกุดทิง พื้นที่ชุ่มน้ำโลก เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อย่างไรก็ตาม ภายในอาคารของศาลากลางมีหน่วยงานราชการกว่า 30 หน่วยงาน ณ ขณะนี้ ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติงานตามปกติ มีเพียงอาคาร สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานจัดหางาน สำนักงานสรรพสามิต สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และ สำนักงานสหกรณ์ ทั้ง 5 แห่งอาศัยอยู่นอกอาคารศาลากลาง ซึ่งยังไม่ถูกน้ำท่วม และสามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ แต่ประชาชนที่จะมาใช้บริการ ไม่ได้รับความสะดวกเท่านั้น
ล่าสุด นายนิรันดร์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวีดบึงกาฬ สั่งการให้ สำนักงานจังหวัดบึงกาฬ จัดห้องภายในอาคารศาลากลางจังหวัดที่ว่างอยู่ ใช้เป็นศูนย์บริการชั่วคราว ของทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนได้ตามปกติ ส่วน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานยังสามารถติดต่องานราชการได้ตามปกติ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก จากข่าวสารทางโซเซียลที่ว่าศาลากลางจังหวัดบึงกาฬถูกน้ำท่วม
ในตอนนี้มีเพียงลานจอดรถ และบ้านพักไม่กี่หลังเท่านั้น ประชาชนยังสามารถมาติดต่องานราชการได้ตามปกติ ทุกวันเวลาราชการเหมือนเดิม แต่อาจจะไม่ได้รับความสะดวกเรื่องการจอดรถเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หนองกุดทิง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก (พื้นที่แรมซาร์) แห่งที่ 11 ของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ 16,500 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ห่างจากตัวอำเภอเมืองบึงกาฬ เพียง 5 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากศาลากลางไม่ถึง 1 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายกับปีกผีเสื้อ กุดทิงเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากตัวเมืองบึงกาฬ และอีกหลายตำบล มีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับห้วยกำแพงก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง
แต่ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงสุดในรอบ 12 ปี ทำให้น้ำโขงหนุนน้ำในหนองกุดทิง จนเอ่อล้นไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่โดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้