xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กฉัตร” มั่นใจบางระกำโมเดลเอาอยู่ เปิด 3 ทุ่งรับน้ำเหนือบน สกัดน้ำท่วมเหลือล่าง-ลุ่มเจ้าพระยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - “พล.อ.ฉัตรชัย” ลุยพื้นที่บางระกำโมเดล มั่นใจปีนี้น้ำป่าเหนือตอนบนไม่กระทบเหนือล่าง-ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแน่ หลังเปิด 3 ทุ่งเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำรวมเกือบ 4 แสนไร่-8 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีก 9 พันล้าน ลบ.ม.

วันนี้ (23 ส.ค.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี, นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และทีมงานกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมช่วงฤดูน้ำหลาก ติดตามผลการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวทุ่งบางระกำที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว กำลังปรับเป็นพื้นที่ทุ่งรับน้ำหลาก ตามโครงการบางระกำโมเดล’61บ้านแม่ระหัน หมู่ 10 ต.บ้านกร่าง อ.เมืองพิษณุโลก

นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวรายงานว่า บางระกำ มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ น้ำท่วมขังทุกปี ตามโครงการบางระกำโมเดล 61 ได้วางแผนให้เกษตรกรเลื่อนเวลาปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำเร็วขึ้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และใช้พื้นที่ลุ่มต่ำให้เกิดประโยชน์ หน่วงน้ำ ชะลอน้ำ ไม่ให้กระทบกับพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง


โดยในปี 2560-2561 ได้เพิ่มพื้นที่รับน้ำอีก 117,000 ไร่ จาก 3 ทุ่ง คือ ทุ่งแม่ระหัน ทุ่งบางระกำ ทุ่งหนองหลวง ในพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ คือ อ.พรหมพิราม อ.เมืองฯ อ.บางะกำ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย รวมเป็น 382,000ไร่ ช่วยทำให้รองรับน้ำได้เพิ่มขึ้น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่รับน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่บางระกำโมเดล เริ่มทำการเพาะปลูก 1 เม.ย. 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว 374,524 ไร่ คิดเป็น 98% อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวเพียง 2% ซึ่งคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ 100% ก่อนวันที่ 31 ส.ค.นี้ เพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากตามแผนที่กำหนด

ซึ่งล่าสุดจากการสำรวจมวลน้ำระลอกแรกจาก จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย จะไหลเข้าสู่เขตจังหวัดพิษณุโลก ในค่ำวันนี้ (23 ส.ค.) แต่มีปริมาณไม่มากนัก คาดว่าในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จึงจะมีมวลน้ำจำนวนมาก ที่จะมาอยู่ในลุ่มน้ำ 3 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก


ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการบางระกำโมเดล’61 ว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยสถานการณ์น้ำหลากในหลายพื้นที่ จึงมอบหมายให้ตนติดตามสถานการณ์น้ำ และบรรเทาผลกระทบ ซึ่งอิทธิพลพายุเบบินคา ทำให้มีฝนตกหนักในภาคเหนือตอนบน ห้วง 17 - 20 ส.ค. 61 ทำให้น้ำท่วมหลายพื้นที่ แต่แม่น้ำยมที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ทำให้น้ำหลากจากพะเยา , แพร่ ไหลลงสุโขทัย และลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

โดยเมื่อ 19 ส.ค.เวลา 06.00 น.แม่น้ำยม อ.สอง จ.แพร่ มีน้ำผ่านสูงสุด 1,350 ลบ.ม./วินาที และ20 ส.ค. 61 เวลา 08.00-10.00 น. แม่น้ำยม อ.เมืองแพร่ มีน้ำผ่านสูงสุด 890 ลบ.ม./วินาที ขณะที่แม่น้ำยมช่วงที่ผ่าน อ.เมืองสุโขทัย สามารถรับน้ำไหลผ่านได้เพียง 550 ลบ.ม./วินาที เนื่องจากลำน้ำแคบ

อย่างไรก็ตาม ได้วางแผนบริหารจัดการล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนฤดูฝน ด้วยการพร่องน้ำในแม่น้ำยม ให้อยู่ระดับต่ำสุด ก่อนน้ำหลากถึง ผันน้ำยมจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ผ่านคลองหกบาทไ ปยังแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมสายเก่าในอัตรา 250 ลบ.ม./วินาที หลังน้ำหลากผ่าน ประตูน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ทำการผันน้ำออกคลองเล็กฝั่งซ้าย/ฝั่งขวา ได้ 150 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้หากยังมีน้ำหลากเกินกว่า 550 ลบ.ม./วินาที จะทำการผันเข้าแก้มลิงที่เตรียมไว้ ได้แก่ ทุ่งทะเลหลวง บึงระมาน บึงขี้แร้ง และบึงตะเคร็ง รวมถึงพื้นที่ทุ่งบางระกำ ขณะนี้การดำเนินการถือว่าเป็นไปตามแผนปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.เมืองสุโขทัย น้อยกว่า 400 ลบ.ม./วินาที

“บางระกำโมเดลปี 61 ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการบางระกำโมเดล 60 ที่สามารถรองรับน้ำหลากได้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถหน่วงน้ำ ทำให้ไม่มีน้ำท่วม ปีนี้ยังเพิ่มพื้นที่บางระกำโมเดล จากเดิม 2.65 แสนไร่ เป็น 3.82 แสนไร่ สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้รวมกันทั้งหมด 550 ล้านลูกบาศก์เมตร”

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวด้วยความมั่นใจว่าน้ำหลากจากภาคเหนือในทุกพื้นที่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเหนือตอนล่าง และ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และปัจจุบันเขื่อนหลักในพื้นที่ภาคเหนือ 8 เขื่อน มีน้ำรวมร้อยละ 63 สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 9,000 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนภูมิพล มีน้ำร้อยละ 59 สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 5,400 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำร้อยละ 73 สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 2,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนสิริกิติ์ รับน้ำหลากจากแม่น้ำน่าน ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้ารวม 500 ล้าน ลบ.ม.

“ครั้งนี้ตื้นตันใจมากที่ได้รับปลาเกลือจากบางระกำ และดีใจที่ปี 2560 และ2561 ชาวนาเกี่ยวข้าวในทุ่งนาได้หมด ซึ่งบางระกำโมเดล เป็นต้นแบบให้หลายจังหวัดได้ด้วย โดย 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่ จ.พะเยา คาดแล้วเสร็จปี 2564 หากมีการสร้างแล้วเสร็จ ก็จะทำให้การบริหารจัดการน้ำยม ลดความรุนแรงลง ส่วนบางระกำโมเดล จะมาเสริมการบริหารจัดการน้ำ และรัฐบาลยังมีแผนดำเนินการอีก 300 โครงการ ในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วย”


กำลังโหลดความคิดเห็น